“สัญญา” สำคัญ ฟรีแลนซ์อย่าพลาด
14 มกราคม 2559

 

ตามปกติแล้ว การที่ฟรีแลนซ์จะเลือกรับทำงานชิ้นหนึ่งจากผู้ว่าจ้าง นอกจากการที่จะต้องสอบถามรายละเอียดการทำงานจากผู้ว่าจ้างให้ชัดเจน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้างมากที่สุด และง่ายต่อการทำงานของฟรีแลนซ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับการรับทำงานคือ การเซ็นสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างและฟรีแลนซ์ เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ที่บ่อยครั้งมักลืมนึกถึงจุดนี้ ทำให้หลายครั้งที่ทำงานเสร็จแล้วผู้ว่าจ้างปฏิเสธรับผลงาน ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับค่าจ้างแล้ว ยังเสียโอกาสที่จะได้รับทำงานอื่นอีกด้วย ในส่วนของผู้ว่าจ้าง การเซ็นสัญญากับฟรีแลนซ์ เป็นการการันตีว่าฟรีแลนซ์จะทำงานจนสำเร็จและไม่ทิ้งงานกลางคันนั่นเอง

 

การลงนามเซ็นสัญญาก่อนเริ่มงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ฟรีแลนซ์และผู้ว่าจ้างจะละเลยไม่ได้ ซึ่งสัญญาจ้างงานระหว่างฟรีแลนซ์และผู้ว่าจ้างนี้ มักมีความสับสนระหว่าง “สัญญาจ้างแรงงาน” และ “สัญญาจ้างทำของ” อย่างไหนที่ใช้สำหรับการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์กันแน่

 

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน

 

“สัญญาจ้างแรงงาน” นี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะสัญญาไว้ว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านาย จ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” กล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “นายจ้าง” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ลูกจ้าง” ซึ่งทางฝ่ายลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อจะได้รับสินจ้างเป็นค่าตอบแทนจากการทำงานนั้น ส่วนทางฝ่ายนายจ้างนั้นประสงค์จะได้แรงงานของลูกจ้าง และนายจ้างก็มีหน้าที่จะต้องจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง

 

ลักษณะของสัญญาจ้างทำของ

 

ส่วน “สัญญาจ้างทำของ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะสัญญาไว้ว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจ้าง” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ซึ่งทางฝ่ายผู้รับจ้างตกลงจะทำงานใดงานหนึ่งจนสำเร็จเพื่อแลกกับสินจ้าง ส่วนผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของผู้รับจ้าง

 

ความเหมือนระหว่างสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ

 

“สัญญาจ้างแรงงาน” และ “สัญญาจ้างทำของ” ทั้งสองสัญญานี้มีความเหมือนกันคือ “ต่างเป็นสัญญาต่างตอบแทน” หมายความว่ามีการแลกเปลี่ยนซึ่งผลประโยชน์ระหว่างคู่สัญญา โดยลูกจ้างและผู้รับจ้าง มีหน้าที่ต้องทำการงานให้ ส่วนนายจ้างและผู้ว่าจ้าง มีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างเป็นการตอบแทนการงานที่ได้รับ

 

ความแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ

 

แม้สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของจะมีลักษณะร่วมกันคือ ต่างเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทว่า สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่นายจ้างมีอำนาจในการสั่งงานลูกจ้าง ให้กระทำตามความต้องการของนายจ้าง กล่าวคือ มีอำนาจในการบงการการทำงาน อาทิ การเข้าทำงาน วิธีการทำงาน รวมถึงการกำหนดข้อบังคับการทำงานต่างๆได้ โดยมีสินจ้างคิดตามการทำงาน ระยะเวลาการทำงาน หรือผลสำเร็จของงาน แล้วแต่ลักษณะการจ้าง (จ้างรายวัน จ้างรายสัปดาห์ จ้างรายจำนวนของที่ลูกจ้างต้องทำ) โดยลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหรือทำให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมาย เพียงแต่มีการตกลงกันในสาระสำคัญของการจ้าง ว่าจะมีการจ้างระยะเวลาเท่าไร สินจ้างเท่าไร สัญญาดังกล่าวก็เกิดขึ้นแล้ว โดยอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง

 

ในขณะเดียวกัน สัญญาจ้างทำของ มีลักษณะที่มุ่งเน้นเพียงผลสำเร็จของงานที่ผู้ว่าจ้าง จ้างวาน ให้ผู้รับจ้างกระทำขึ้นจนสำเร็จ กล่าวคือ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจในการบงการการทำงาน จะเริ่มงานเมื่อไร จะทำงานอย่างไรก็เป็นอิสระของผู้รับจ้าง จะด้วยวิธีใดก็ตามแต่เพื่อให้ได้ผลงานสำเร็จแล้วไปส่งผู้ว่าจ้าง เพื่อแลกกับค่าตอบแทน

 

จากเนื้อหาที่ได้อธิบายไปข้างต้นนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าลักษณะของการทำงานฟรีแลนซ์ เป็นการทำงานภายใต้สัญญาจ้างทำของ มากกว่าสัญญาจ้างแรงงาน เนื่องจากลักษณะการจ้างทำงานของฟรีแลนซ์นั้นมุ่งหวังที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ รวมถึงความเป็นอิสระในการทำงาน จะเริ่มงานเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจใจการบังคับสั่งการ เมื่อทำงานสำเร็จจึงส่งมอบให้ผู้ว่าจ้าง และได้เงินค่าจ้างเป็นสิ่งตอบแทน

 

ผู้ว่าจ้างและฟรีแลนซ์พึงระลึกไว้เสมอว่าก่อนเริ่มงานทุกครั้งจะต้องมีการเซ็นสัญญากันก่อน เพื่อเป็นการยืนยันว่าฟรีแลนซ์จะทำงานจนสำเร็จลุล่วงและทำการส่งงานให้กับผู้ว่าจ้างได้ และผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินค่าจ้างให้กับฟรีแลนซ์เมื่องานเสร็จสิ้นในที่สุด แม้ว่าตามหลักการแล้วสัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบก็ตาม (เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ) แต่ทั้งนี้ FreelanceBay ขอแนะนำให้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะมีความรัดกุมมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติ การมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจะทำให้แต่ละฝ่ายมีหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่ามีการจ้างทำของเกิดขึ้นจริง หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดผิดสัญญา ก็จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ง่ายกว่าการไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

สัญญาจ้างแรงงาน : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575

สัญญาจ้างทำของ : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587

ตัวอย่างสัญญาจ้างทำของ : สัญญาจ้างทำของ

กำลังเชื่อมต่อ