10 คำถามที่ต้องตอบก่อนลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์
11 สิงหาคม 2559

 

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้หลายๆ คนอยากลาออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์ ไม่ว่าจะเป็นเบื่อเจ้านาย เบื่อลูกน้อง เบื่องาน หรือเบื่อวงจรชีวิตตอกบัตรเข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็น เบื่อๆๆ สารพัดที่จะหาความเบื่อมาใส่หัวให้ตัวเองรู้สึกว่ามีเหตุผลมากพอที่จะลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ใครที่กำลังมีอาการแบบนี้อยู่ ขอความกรุณา #วางถุงกาวแล้วตั้งสติก่อน เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ไม่ได้สบายอย่างที่คุณคิด เกิดติสต์แตกลาออกไปเลยเผลอๆ จะเครียดกว่าเดิมอีก

 

เพราะการเป็นฟรีแลนซ์มันไม่ง่าย และควรเตรียมความพร้อมก่อนที่จะลาออก อย่างน้อยก็ควรถามตัวเองว่าเราพร้อมสำหรับการเป็นฟรีแลนซ์แล้วหรือยัง และนี่คือ 10 คำถามที่คุณควรถามและตอบตัวเองให้ได้ก่อนที่คุณจะลาออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์ ให้คุณลองอ่านและเช็คตัวเองดูว่ามีข้อไหนที่คุณยังตอบไม่ได้บ้าง เพื่อให้คุณพร้อมสำหรับการเป็นฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว

 

1. เรามีประสบการณ์มากพอแล้วรึยัง?

คำถามแรกสุดที่ควรถามตัวเองเลยคือ เรามีประสบการณ์ในการทำงานมากพอแล้วรึยัง? อย่าลืมว่าการเป็นฟรีแลนซ์นั้นต่างกับงานประจำตรงที่เราทำงานคนเดียว ต้องใช้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมดที่มีทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด ดังนั้นพอร์ตงานและลูกค้าเก่าที่เราเคยทำงานด้วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น คุณอาจลองทำงานให้เพื่อน คนรู้จัก หรือเพื่อนร่วมงานก่อน เพื่อให้พวกเขาเป็นบุคคลอ้างอิง และสามารถต่อยอดในการหาลูกค้ารายใหม่ๆ ก็ได้ ยิ่งคุณมีประสบการณ์มากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะได้รับงานก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น เมื่อมีงานเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ก็เตรียมตัวลาออกจากงานมาทำฟรีแลนซ์เต็มตัวได้เลย

 

2. เรามีทักษะอะไรที่สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้?

หากคุณต้องการเป็นฟรีแลนซ์โปรแกรมเมอร์ แต่ยังเขียนโปรแกรมได้ไม่คล่อง ไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร หรือเขียนโปรแกรมแล้วมีแต่ปัญหาตลอดเวลา สิ่งแรกที่ควรทำคือคุณควรไปพัฒนาความสามารถของคุณก่อน พึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหนก็ตาม โลกนี้ยังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ คุณต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และการเรียนรู้นี่แหละจะช่วยพัฒนาตัวคุณให้เป็นมืออาชีพได้ในที่สุด

 

3. รู้จักโลกของการทำงานฟรีแลนซ์ดีพอมั้ย?

ลองไตร่ตรองดูดีๆ ว่าคุณพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่วงจรชีวิตฟรีแลนซ์รึเปล่า คุณอาจลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ไม่ต้องรีบตื่นฝ่ารถติดไปทำงานก็จริง แต่ก็ต้องแลกมากับชีวิตที่ต้องทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเอกสาร การเงิน บัญชีต่างๆ โดนลูกค้าตามงานตอนดึกๆ ดื่นๆ เวลาที่คุณกำลังจะนอน หรือเวลาที่คุณคิดงานไม่ออกแต่ใกล้ถึงเดดไลน์ งานไม่เข้า-หมุนเงินไม่ทัน และปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้า คุณพร้อมที่จะแบกรับสิ่งเหล่านี้มั้ย ลองพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียต่างๆ ให้ดี ก่อนที่คุณจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ

 

4. คุณจัดแพ็คเกจบริการแล้วรึยัง

จะว่าไปแล้วการเป็นฟรีแลนซ์ก็เหมือนกับการทำธุรกิจนั่นแหละ เพียงแต่มีสเกลที่เล็กกว่า และมีสินค้าเป็นความสามารถ หรือก็คือบริการของเรานั่นเอง คุณควรตั้งราคาบริการของคุณให้ชัดเจน โดยอาจจัดเป็นแพคเกจต่างๆ ให้ลูกค้าเลือก เช่น หากลูกค้าต้องการงานในระดับนี้ ก็สามารถเลือกใช้บริการนี้ได้ หรือหากต้องการบริการนอกเหนือจากแพคเกจที่จัดไว้ ก็ควรให้ลูกค้าขอใบเสนอราคาได้ เป็นต้น ทั้งนี้คุณควรจัดเตรียมบนหน้าเว็บไซต์ด้วย เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ลูกค้าสามารถหาคุณเจอได้ง่าย หรือสร้างโปรไฟล์บนหน้าเว็บไซต์ FreelanceBay ก็ได้เช่นเดียวกัน

 

5. คุณมีการวางแผนการเงินของคุณหรือยัง

การเป็นฟรีแลนซ์นั้นแตกต่างจากพนักงานประจำตรงที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ ต้องทำงานจนส่งถึงมือลูกค้าก่อนถึงจะได้รับเงิน นอกจากนี้ยังต้องเจอเรื่องของการจ่ายเงินล่าช้า ติดเครดิต 30 วัน 45 วันอีก ฉะนั้นในช่วงแรกของการทำงานฟรีแลนซ์จึงเป็นช่วงที่คุณต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดสุดๆ คุณได้มีการวางแผนรองรับสถานการณ์นี้มั้ย? หรือมีเงินเก็บเพียงพอที่จะให้คุณอยู่รอดไปได้ (ในช่วงระหว่างที่คุณยังไม่มีรายได้เข้ามา) แล้วหรือยัง

 

6. มีแผน B หรือแผน C รองรับหรือไม่

โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน คุณไม่มีทางควบคุมทุกอย่างได้ 100% แม้ว่าคุณจะมีการวางแผนมาอย่างดีแล้วก็ตาม การมีแผนสำรองแทนที่กรณีที่แผนหลักไม่เวิร์ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณสามารถเดินต่อไปได้โดยไม่เสียหลักไปเสียก่อน ทั้งนี้แผนสำรองนั้นควรเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้หากจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณไม่อยากทำ เช่น ถ้าแผน A คือการเป็นฟรีแลนซ์ สถาปนิก แผน B ของคุณอาจเป็นฟรีแลนซ์กราฟฟิกดีไซเนอร์ และแผน C เป็นพนักงานร้านกาแฟ โดยแผน B และ C อาจเป็นสิ่งที่คุณไม่ได้สนใจมากนัก แต่ทำให้คุณมีโอกาสหาลูกค้าได้ง่ายกว่า ซึ่งทั้งสองแผนนี้จะทำให้คุณกลับมาทำแผน A ได้ในอนาคต เป็นต้น

 

7. เราจัดตารางการทำงานอย่างไร

ตอนที่เราเป็นพนักงานประจำ แต่ละบริษัทมีการกำหนดระยะเวลาทำงานให้เรา เข้างาน 8-9 โมงเช้า เลิกงาน 5-6 โมงเย็น แต่สำหรับฟรีแลนซ์แล้วเวลาทุกเม็ดเป็นของเรา อยากจะตื่น จะทำงานกี่โมงก็ได้ ความยากอยู่ที่ตรงนี้ ด้วยความที่เราไม่มีใครมาคอยกำหนดเวลาทำงานให้ จึงเป็นเราที่ต้องกำหนดเวลาทำงานให้ตัวเอง เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น คุณอาจเริ่มงานสักตอนบ่ายโมง และนั่งทำงานไปยาวๆ จนถึงสี่ทุ่ม ก็ได้ การกำหนดเวลาที่ชัดเจนแบบนี้นอกจากจะทำให้ตัวคุณรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไรแล้ว ยังสามารถสร้างวินัยให้กับคุณอีกด้วย ซึ่งวินัยนี่แหละจะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

 

8. เราสนใจในสายงานนั้นมากแค่ไหน

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าเราได้ทำงานที่ชอบหรือเรารัก เราจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงานเลยสักวัน" การเป็นฟรีแลนซ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณได้ทำงานในฟีลด์ที่คุณสนใจและรักมันจริงๆ คุณจะอยู่กับมันได้นาน อย่าลืมว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อลูกค้าอย่างเดียว แต่เรากำลังทำให้ตัวเองด้วย เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ก็คือการทำธุรกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน นอกจากนี้การได้ทำในสิ่งที่คุณรักยังทำให้เรามีความกระตือรือร้นในการทำงาน สามารถใส่ความพยายามในการทำงานลงไปได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เราไปได้ไกลกว่าคนอื่น

 

9. พื้นที่ทำงานพร้อมมั้ย

แม้ว่าการเป็นฟรีแลนซ์จะทำงานที่บ้านก็จริง แต่อย่างน้อยก็ควรมีการตระเตรียมพื้นที่สำหรับทำงานด้วย โดยจัดพื้นที่ในบ้านให้แต่ละส่วนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องทำงาน การจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณไม่วอกแวก และสามารถโฟกัสกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยในห้องทำงานอาจจะมีแค่แล็ปท็อปดีๆ สักตัว, ปฏิทินตั้งโต๊ะสำหรับลงงานที่ต้องทำในแต่ละวัน แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการทำงานในทุกๆ วันแล้ว

 

10. มีระบบและกลยุทธ์รองรับสำหรับการเป็นฟรีแลนซ์เต็มเวลาหรือยัง

อย่าลืมว่าการเป็นฟรีแลนซ์นั้นต่างกับงานประจำอย่างมหาศาล แม้ว่าเราจะไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อฝ่ารถติดไปทำงานที่ออฟฟิศก็จริง แต่ "อิสระ" นั้นไม่ใช่ของฟรี คุณต้องแลกมันมาด้วยการมีวินัยในตัวเองอย่างสุดๆ รวมถึงต้องมีการวางแผน จัดระบบ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางฟรีแลนซ์ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเวลา การเงินต่างๆ สัญญาจ้างงาน ฯลฯ มีฟรีแลนซ์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวเรื่องพวกนี้ แล้วก็มักจะมาบ่นทีหลังว่าทำไมเป็นฟรีแลนซ์มันช่างยากเย็นนัก แต่คนนั้นคงไม่ใช่คุณหรอก ใช่ไหม?

 

อ่านบทความอื่นๆ ของ FreelanceBay

สมัครสมาชิก FreelanceBay

ติดตาม FreelanceBay จากช่องทางต่างๆ : Facebook | Twitter | Google+

กำลังเชื่อมต่อ