เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อยสำหรับฟรีแลนซ์อย่างเราๆ ท่านๆ ที่นอกจากจะต้องมาห่วงหน้าพะวงหลังกับรายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือนแล้ว พอถึงช่วงปลายปียังจะต้องมากังวลกับเรื่องภาษีที่แสนจะปวดหัวเหลือเกิน เพราะลำพังแค่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในทุกๆ วันก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว พอถึงสิ้นปีที่ต้องมาคำนวณภาษีที่จะต้องจ่ายในปีหน้าแล้ว มองตัวเลขเงินฝากในบัญชีแล้วถึงกับต้องถอนหายใจรัวๆ นี่เราต้องจ่ายภาษีจริงๆ เหรอ? (วะ)
คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ (อ้าว ตกลงยังไง???)
เพราะถ้ารายได้เราไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องเสียภาษี (รัฐเขาก็ใจดียกเว้นให้สำหรับคนที่มีรายได้น้อยเหมือนกันนะทำเป็นเล่นไป) ในขณะที่หากเรามีรายได้มาก ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องจ่ายภาษีไปตามระเบียบ (ซึ่งก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่หรอ เพราะการที่เราสามารถเสียภาษีได้ เท่ากับเรามีรายได้ที่เยอะขึ้นไง คิดในแง่บวกเข้าไว้)
แล้วใครมีหน้าที่เสียภาษีบ้าง?
ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีนั้น ได้ระบุไว้ว่า บุคคลที่มีหน้าทีในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ได้แก่ ...
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ซึ่งฟรีแลนซ์อย่างเราๆ ท่านๆ ก็จัดอยู่ในกลุ่มของ #บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ขั้นเทพที่มีรายได้แตะหลักแสนต่อเดือน หรือฟรีแลนซ์ขั้นต๊อกต๋อยที่มีรายได้แบบเดือนชนเดือน ทุกคนถูกจัดเป็นบุคคลธรรมดาด้วยกันทั้งสิ้น นั่นแปลว่าเราทุกคนมีหน้าที่ในการเสียภาษีนั่นเอง
ข้อยกเว้นที่ทำให้เราไม่ต้องเสียภาษี
จริงๆ แล้วกฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้เราเหมือนกันนะ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 จะมีรายได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยทุกคนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ตามลิงก์ที่เราแนบไว้ได้เลย (แต่แอบสปอยล์ไว้ล่วงหน้าเลยว่าไม่เจอหรอก เพราะรายได้ที่ได้มาจากการทำงานฟรีแลนซ์นั้นส่วนใหญ่แล้วนั้นเข้าข่ายต้องเสียภาษีอย่างแน่นอน หนีไม่รอดดดดด)
กับ 2 ก็คือ ในกรณีที่เราเป็นฟรีแลนซ์ที่ทำงานต่างประเทศ ถือว่าไม่ต้องเสียภาษี (เพราะรายได้ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย) แต่!!! ถ้าหากในปีนั้น คุณพำนักอยู่ในเมืองไทยเกินกว่า 180 วัน (1) หรือนำรายได้เข้ามาในประเทศในปีนั้นด้วย (2) ถ้าเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ ก็ขอแสดงความยินดี คุณต้องเอาเงินก้อนนั้นมาคำนวณภาษีด้วยจ้า
แต่ว่าเราจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% ไปแล้วนี่ นั่นยังไม่เรียกว่าจ่ายภาษีอีกหรอ?
จริงๆ ก็ใช่ แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด (อีกแล้ว) เพราะการที่ผู้ว่าจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายไป 3% นั้น ก็เพื่อส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรนั่นเอง ซึ่งถ้าผู้ว่าจ้างไม่ส่งข้อมูลให้กับสรรพากรนั้น เท่ากับผู้ว่าจ้างมีความผิดนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เกิดขึ้น นั่นแปลว่า ... สรรพากรรู้แล้วว่าเรามีรายได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำต่อไปก็คือ ทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จงเก็บเอกสารเหล่านั้นไว้ แล้วนำไปยื่นแบบประเมินให้กับสรรพากรต่อไปนั่นเอง
แต่ก็นั่นแหละ อย่างที่เราได้บอกไปข้างต้นว่าการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% นั้น จริงๆ มันก็คือการจ่ายภาษีนั่นแหละ แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลายื่นภาษี คุณสามารถนำ 3% ตรงนี้ ไปยื่นขอภาษีคืนได้ (ในกรณีที่เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท) หรือหากคุณต้องเสียภาษีเพิ่มเติม ก็สามารถนำ 3% ไปหักกับภาษีที่ต้องจ่ายได้ในภายหลัง (เพราะถือว่าเราได้จ่ายภาษีไปส่วนหนึ่งแล้ว)
โอเค ... ถ้างั้นเราจะมีวิธีในการคำนวณภาษียังไง?
สำหรับการคำนวณภาษี (สำหรับฟรีแลนซ์) นั้น สามารถเลือกคำนวณได้ 2 วิธี คือ ...
1. คำนวณจากเงินได้สุทธิ
(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
2. คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน
รายได้ x 0.5%
(วิธีนี้ใช้สำหรับคนไม่ทำงานประจำที่มีรายได้เกิน 1 ล้านบาท เท่านั้น)
โดยการจะเลือกใช้วิธีไหนในการคำนวณนั้น ให้ตรวจสอบเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่
- เรามีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทหรือไม่
- ถ้าใช่ คุณต้องนำรายได้ของคุณมาคำนวณทั้ง 2 วิธี และดูว่าการคำนวณแบบไหนที่ทำให้คุณเสียภาษีมากกว่า แล้วจึงนำตัวเลขจากการคำนวณที่ได้ (มากกว่า) ไปจ่ายภาษี #แบบนี้ก็ได้หรอ
- แต่ถ้าข้อ 1 ไม่ใช่ ให้คำนวณด้วยวิธีเดียวก็พอ ซึ่งก็คือการคำนวณจากรายได้สุทธินั่นเอง
ถ้างั้นเรามาฝึกคำนวณเงินได้สุทธิดีกว่า
อย่างที่เราได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้วว่า เงินได้สุทธิ = [(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) - เงินบริจาค] ซึ่งตัวแปรแต่ละตัวนั้นมีรายละเอียดดังนี้
เงินได้ = รายได้ที่เราได้รับในแต่ละปี
ค่าใช้จ่าย = ค่าใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดให้หักจากรายได้
ค่าลดหย่อน = สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้หักเพิ่มจากค่าใช้จ่าย
เงินบริจาค = เป็นรายการลดหย่อนสุดท้าย (ที่นำมาคิดหลังจากหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ไปหมดแล้ว) โดยหักจากเงินได้สุทธิก้อนแรก ซึ่งจะทำให้ได้เงินได้สุทธิที่สุทธิจริงๆ (ที่จะนำไปคิดภาษี)
ประเภทของเงินได้ 8 ประเภท
ตามประมวลรัษฎากรนั้น ได้แบ่งประเภทของเงินได้ออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้
เงินได้ประเภทที่ 1 คือ เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส ต่างๆ
เงินได้ประเภทที่ 2 คือ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า งานที่รับจ้างทำตามสัญญาจ้างเป็นครั้งคราวไป
เงินได้ประเภทที่ 3 คือ เงินได้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
เงินได้ประเภทที่ 4 คือ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรต่างๆ
เงินได้ประเภทที่ 5 คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ
เงินได้ประเภทที่ 6 คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด
เงินได้ประเภทที่ 7 คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
เงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้อื่นๆที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 7 ประเภทที่ว่ามา
โอ้โห เยอะขนาดนี้ แล้วฟรีแลนซ์ถูกจัดอยู่ในประเภทไหนกันล่ะเนี่ย???
ถ้าคุณไม่รู้ ให้กลับไปดูที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้ว่าจ้างออกให้คุณก็ได้ อันนี้คืออย่างง่ายที่สุด แต่โดยส่วนมากแล้วก็มักจะจัดอยู่ในประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นงานที่รับจ้างทำตามสัญญาจ้างเป็นครั้งคราว ทั้งนี้คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจ เพราะประเภทของรายได้นั้น จะนำไปสู่การเลือกหักค่าใช้จ่าย ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทนั้นก็มีวิธีการหักค่าใช้จ่ายไม่เหมือนกันอีก
การหักค่าใช้จ่าย
ตามกฎหมายแล้ว อนุญาตให้เราสามารถหักภาษีได้ 2 แบบคือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา และ การหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง ซึ่งรายได้ทั้ง 8 ประเภทที่เราได้กล่าวไปนั้น ก็มีวิธีการเลือกหักที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถสรุปได้ตามตารางด้านล่างนี้
ประเภทของเงินได้ทั้ง 8 ประเภท |
รายการ |
||
หักแบบเหมา |
หักตามจริง |
อัตรา/ข้อจำกัดค่าใช้จ่ายแบบเหมา |
|
เงินเดือน |
ได้ |
ไม่ได้ |
40% ไม่เกิน 60,000 บาท |
ค่านายหน้า/ค่าจ้างทำของ |
|||
ค่าลิขสิทธิ์ |
40% ไม่เกิน 60,000 บาท |
||
ดอกเบี้ย |
ไม่ให้หัก |
||
ค่าเช่า |
ได้ |
ได้ |
10% - 30% |
วิชาชีพอิสระ |
ประกอบโรคศิลปะ 60% อื่นๆ 30% |
||
รับเหมา |
70% |
||
อื่นๆ |
65% - 85% |
สำหรับฟรีแลนซ์ที่ทำงานประจำและรับงานฝิ่นคู่ไปด้วยนั้น จะมีรายได้ทั้ง 2 ทางคือเงินเดือน และรายได้ประเภทอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่ว่าเป็นประเภทไหน แต่ข่าวร้ายก็คือ ถึงแม้ว่าเราจะรับงานฟรีแลนซ์และทำงานประจำคู่ไปด้วยนั้น เราสามารถหักค่าใช้จ่ายรวมกันได้สูงสุดได้แค่ 60,000 เท่านั้น #ชีวิตแค่โดนทำร้าย #ขอมากกว่านี้ได้ไหม
ส่วนเงินได้ประเภทอื่นๆ นั้น หากคุณเป็นฟรีแลนซ์ที่มีประเภทเหล่านั้นด้วย สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ (เว้นแค่ 2 ประเภทแรก คือเงินเดือน และค่านายหน้า/ค่าจ้างทำของเท่านั้น ที่กฎหมายบังคับให้หักค่าใช้จ่ายรวมกัน) ซึ่งจะเลือกหักแบบเหมาหรือหักตามจริงก็ได้ (ตามเงื่อนไขของเงินได้ประเภทนั้นๆ) แต่ FreelanceBay ขอแนะนำให้เลือกหักแบบเหมาดีกว่า จะได้จบเรื่องจบราวกันไป แบบไม่ต้องไปตบตีกับสรรพากรให้เสียเวลา ว่าอะไรหักได้บ้าง อะไรหักไม่ได้ ทั้งยังความวุ่นวายทางเอกสารที่ต้องตามเก็บกันอุตลุดตั้งแต่หัวปียันท้ายปี เพื่อนำไปยื่นให้สรรพากร ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงมันจะเยอะกว่าก็เถอะ แต่บอกเลยว่าชีวิตยากมาก เพราะฉะนั้น เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาดีกว่า เพื่อชีวิตที่ง่ายยิ่งขึ้น