7 เสต็ปปูทาง สู่การเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว
16 พฤศจิกายน 2559

 

อาชีพอิสระอย่าง "ฟรีแลนซ์" นั้น อาจะเป็นความฝันของมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน ไม่ว่าจะเพื่อหาค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมจากเงินเดือนที่ได้ หรืออาจเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องไปให้ถึง ด้วยคำว่า "อิสระ" ที่ช่างยั่วยวน ชวนให้อยากจะลาออกจากงานประจำไวๆ ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้ก็คือ คำว่า "อิสระ" นั้นไม่ใช่ของฟรี ไม่ใช่ของที่จะได้มาโดยง่าย แม้ฟรีแลนซ์จะเป็นอาชีพอิสระ ไม่ต้องเสียเวลาตื่นแต่เช้า ฝ่ารถติดไปทำงานก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของรายได้ ที่ต้องยอมรับว่าอาจไม่มีเงินเข้ามาทุกเดือนดังเช่นตอนที่ทำงานประจำ หรือแม้กระทั่งต้องถูกลูกค้าโทรตามงานดึกๆ ดื่นๆ คุณพร้อมที่จ่ายสิ่งเหล่านี้ให้กับคำว่า "อิสระ" ที่ใฝ่ฝันหรือไม่

 

เพราะการเป็นฟรีแลนซ์นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และคนที่ไม่เตรียมพร้อมก่อนลาออกจากงาน บอกเลยว่าชีวิตพังแน่ๆ นี่พูดจริงไม่ได้ขู่ให้กลัวเล่นๆ ฉะนั้น ถ้าอยากทำงานฟรีแลนซ์ให้สามารถอยู่รอดได้ (แบบไม่ไส้แห้ง) เรามี 7 เสต็ปปูทางก่อนลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ ให้คุณเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนโลดแล่นบนเส้นทางฟรีแลนซ์ได้อย่างไร้กังวล

 

1. ใช้วิสัยทัศน์ มองข้ามอุปสรรค

กำแพงชั้นแรกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเริ่มต้นออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็คือ "ความคิด" ของคุณนั่นแหละ ซึ่งมักจะเป็นความคิดที่ว่า "ฉันทำไม่ได้ และไม่มีวันทำได้" คือ แค่เริ่มต้นก็ผิดแล้วคุณ สิ่งที่คุณควรคิดก็คือ การเป็นฟรีแลนซ์ของคุณนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และมันใช่แค่เพียงความคิดชั่ววูบที่อยากจะลาออกเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่คุณคิดมาดี และมีแผนรองรับไว้แล้ว อย่าโดนหลอกด้วยความคิดปลอมๆ โดยอาจใช้คำถามง่ายๆ 2 ข้อ ถามตัวคุณเองดูว่า 1.) ทำไมคุณถึงจะออกมาเป็นฟรีแลนซ์ และ 2.) ทำไมลูกค้าจะต้องใช้บริการกับคุณ ด้วย 2 คำถามนี้ จะทำให้คุณพอมองเห็นภาพคร่าวๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงเส้นทางที่จะไปต่อในอนาคต

 

2. ทำฟรีแลนซ์ให้เป็นธุรกิจ

รู้หรือไม่ว่าการเป็นฟรีแลนซ์นั้นสามารถจดทะเบียนเป็นธุรกิจได้ด้วย แม้คุณจะดำเนินธุรกิจเพียงลำพังด้วยตัวคนเดียวเองก็ตาม เพราะด้วยการจดทะเบียนเป็นธุรกิจนั้น จะทำให้คุณได้ประโยชน์ในเรื่องของ "ภาษี" ไม่น้อยเลย รวมถึงในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ที่มีภาษีดีกว่าการเป็นฟรีแลนซ์ทั่วไป ทั้งนี้คุณควรศึกษารูปแบบการจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ไว้ด้วย เพราะการจดทะเบียนธุรกิจแบบต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องของการดำเนินธุรกิจและการเสียภาษี

 

3. จัดเตรียม - สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ให้พร้อม

ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์, Facebook, Twitter, Instagram, LinkedIn หรือใน FreelanceBay นี่แหละ คุณสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ในการสร้างช่องทางการประชาสัมพันธ์ เพื่อติดต่อสื่อสารกับลูกค้าของคุณได้ การเป็นฟรีแลนซ์แม้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอย่างธุรกิจอื่นๆ แต่ก็ต้องสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักเช่นเดียวกัน ไม่งั้นคงไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ รวมถึงนามบัตรต่างๆ ก็สามารถทำเตรียมไว้ได้ ในกรณีที่ต้องออกไปพบลูกค้า หรือทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ และอย่าลืม บอกต่อกับคนรอบข้างของคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จัก ว่าคุณทำงานฟรีแลนซ์แล้ว ซึ่งหากคุณเป็นคนที่น่ารัก และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขา เขาก็พร้อมที่จะแนะนำลูกค้าให้คุณได้อยู่แล้ว เชื่อสิ

 

4. เตรียม Portfolio ให้พร้อม

'ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน' และสิ่งที่แสดงถึงฝีไม้ลายมือในการทำงานของฟรีแลนซ์ได้ชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Portfolio ซึ่งก็คือผลงานต่างๆ ที่คุณเคยทำ ไม่ว่าจะเป็นงานที่เป็นโปรเจคส่วนตัว หรือโปรเจคที่เคยทำกับลูกค้ารายอื่น และ Portfolio ของคุณนี่แหละคืออาวุธชั้นดีที่จะพิชิตใจลูกค้าได้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดยิ่งกว่าสื่อการตลาดใดๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ารู้จักตัวตนของคุณมากที่สุด ดังนั้น คุณจึงควรให้ความสำคัญกับมันเป็นพิเศษ และจัดเตรียมขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน ทำให้สุดความสามารถ เพื่อโชว์ให้ลูกค้าได้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของคุณได้มากที่สุดเท่าที่คุณจะสามารถทำได้
 

5. จัดทำเอกสารทางบัญชีให้เรียบร้อย

ก่อนที่จะเริ่มทำฟรีแลนซ์ คุณควรมั่นใจก่อนว่าคุณได้เตรียมสิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคา, จัดเตรียมเอกสารใบแจ้งหนี้, ใบเสนอราคา, ใบวางบิลต่างๆ การจัดทำบัญชีต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือในเรื่องของภาษี การจัดเตรียมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้พร้อมล่วงหน้า จะช่วยให้คุณไม่ต้องเสียเวลาในการมาทำเอกสารพวกนี้ในภายหลัง และจะทำให้คุณสามารถเพ่งสมาธิไปที่การทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่เกิดอาการห่วงหน้าพะวงหลัง

 

6. เริ่มต้นจากลูกค้าจำนวนน้อยๆ ก่อน

หากคุณยังทำงานประจำอยู่ ลองจัดเวลาหลังเลิกงานและวันเสาร์อาทิตย์ในการหาฐานลูกค้าใหม่ๆ เพื่อเตรียมตัวในการเป็นฟรีแลนซ์ของคุณ และเริ่มต้นออมเงินในบัญชีได้แล้ว เพื่อให้คุณสามารถอยู่รอดได้ในกรณีที่ไม่มีงานเข้ามา โดยเฉพาะฟรีแลนซ์หน้าใหม่ที่อยู่ในช่วงหาลูกค้า นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการหาฐานลูกค้าใหม่ๆ นั้น คุณไม่จำเป็นที่จะต้องลาออกจากงานประจำแล้วมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์เลย โดยอาจจะเริ่มต้นจากการสอบถามญาติ, เพื่อนๆ หรือคนรอบตัวของคุณแทนก็ได้

 

7. เชื่อมั่นในตัวเอง

ทั้งหมดทั้งมวลสำหรับการเป็นฟรีแลนซ์นั้น เริ่มต้นจากความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งเกิดจากการที่คุณได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว หากคุณยังสงสัยในตัวคุณเองอยู่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ยังไง คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย ดังนั้น จงเชื่อมั่นใจตัวเองซะ เชื่อมั่นว่าคุณทำได้ แม้จะมีอุปสรรคเข้ามาบ้างในระหว่างทาง แต่มันก็คือธรรมชาติและสิ่งที่คุณต้องเจอและผ่านมันไปให้ได้ก็เท่านั้นเอง มีคนตั้งมากมายหลายคนที่ทำได้ ถ้าพวกเขาทำได้ คุณก็ทำได้เช่นเดียวกัน

 

 

อาจจะมีหลายคนที่เป็นฟรีแลนซ์โดยที่ไม่เคยทำงานประจำมาก่อน หรือทำงานประจำมาหลายปีแล้วถึงลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะโอกาสและจังหวะเวลาในชีวิตของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือคุณได้คิดที่จะเริ่มต้นทำมันหรือเปล่า และได้มีการวางแผนเตรียมตัวอย่างรอบคอบหรือไม่ การเป็นฟรีแลนซ์อาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครหลายคนคิด แต่ก็ไม่ได้ยากกินไปขนาดที่ไม่สามารถเป็นได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงเชื่อมั่นในตัวเองแล้วลุยไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ คุณก็สามารถเป็นฟรีแลนซ์ที่ดีได้เช่นเดียวกัน

กำลังเชื่อมต่อ