การตัดสินใจลาออกในแต่ละครั้งนั้นอาจดูเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่ยากมากเรื่องหนึ่งในชีวิตของคนเรา เพราะสำหรับบางคนแล้ว อาชีพการงานนั้นถือเป็นตัวตัดสินชะตาชีวิตเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการลาออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์เต็มตัว ที่ต้องยอมรับว่าต่อไปจะไม่มีเงินเดือนไหลเข้ามาทุกเดือนอีกต่อไปแล้ว คุณพร้อมที่จะยอมรับกับสิ่งที่จะตามมาได้หรือไม่ การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เราสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างไม่สะดุดนั่นเอง ซึ่ง FreelanceBay ได้รวบรวมเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ 10 ข้อ มาฝากเพื่อนๆ กัน
1. ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน
ในขั้นแรกสุดก่อนที่คุณจะตัดสินใจลาออกมานั้น คุณควรพิจารณาทุกอย่างให้รอบคอบก่อน ด้วยการเขียนข้อดี - ข้อเสียเกี่ยวกับสิ่งที่คุณชอบ และไม่ชอบในงานที่คุณทำ เพื่อชั่งน้ำหนักให้แน่ใจว่า คุณอยากที่จะก้าวหน้าในงานที่คุณทำมากกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่ หรืองานที่คุณทำอาจจำเจ จนไม่รู้สึกถึงการพัฒนาไปในระดับที่ดีกว่าเดิมกันแน่
2. มีเงินเก็บบ้างบางส่วน
สิ่งที่สำคัญที่สุดหากคิดจะลาออกจากงานคือ เงินเก็บ เพราะถ้าหากคุณตัดสินใจลาออกจากงานทั้งๆ ที่ยังไม่มีงานสำรองแล้วล่ะก็ แน่นอนว่ารายได้ของคุณจะหายไป คุณต้องแน่ใจว่าระหว่างที่คุณไม่มีรายได้นี้ คุณจะสามารถประคับประคองค่าใช้จ่ายที่คุณต้องรับผิดชอบได้ จนกว่าคุณจะสามารถรับงานมาทำจนมีรายได้เข้ามามากกว่าหรือเท่ากับเงินเดือนที่คุณเคยได้รับ
3. ต้องเตรียมพร้อม
คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า หลังจากที่คุณตัดสินใจลาออกนั้น คุณได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมายของบริษัทฯ ตรวจสอบเอกสารที่คุณเซ็นทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจของคุณนั้น จะไม่ส่งผลแก่คุณในอนาคต
4. แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
โดยทั่วไปนั้น คุณควรจะแจ้งการลาออกล่วงหน้าเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พนักงานทุกคนทราบเป็นอย่างดี หรือถ้าตามมาตรฐานในบ้านเรานั้น ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ทางบริษัทฯ ได้เตรียมสรรหาบุคลากรกับตำแหน่งงานที่ต้องว่างเว้นไป เว้นเสียแต่ว่าในกรณีฉุกเฉินจริงๆ ให้ชี้แจงกับทางบริษัทฯ โดยตรงจะเป็นเรื่องดีที่สุด
5. บอกผู้บังคับบัญชาโดยตรงก่อน
โดยทั่วไปแล้วพนักงานใต้บังคับบัญชา มักจะมีความสนิทสนมกับหัวหน้า จึงควรมีการบอกกล่าวผู้บังคับบัญชาก่อนที่จะแจ้งทางบริษัทฯ อย่างเป็นทางการ เนื่องจากบางครั้งอาจทำงานร่วมกันมานาน การบอกถึงเหตุผลในการลาออก ก็เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ เผื่อมีโอกาสในการร่วมงานกันอีกในอนาคต
6. ต่อรองอย่างมีชั้นเชิง
หากคุณคิดว่าคุณเป็นพนักงานที่มีความสามารถแล้วล่ะก็ นี่เป็นหนทางที่คุณจะใช้ในการต่อรองขอขึ้นเงินเดือนเพื่อแลกกับการที่คุณยังคงทำงานอยู่ที่นี่ต่อไป เว้นเสียแต่ว่าคุณมีเหตุผลอยากที่จะออกจริงๆ จนจำนวนเงินก็ไม่สามารถรั้งคุณไว้ได้ ก็ไปเถอะ
7. ใช้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์
อย่างที่เกริ่นข้างต้นไปว่า การลาออกจากงานนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นงานที่ทำมานานแล้วล่ะก็ หัวหน้างานคุณยิ่งต้องการเหตุผลอย่างมากในการลาออกของคุณ เพราะตำแหน่งงานไม่ว่าตำแหน่งใด หากว่างเว้นไป หรือการต้องหาคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่บริษัทฯ ต้องการนั้น ก็เป็นเรื่องยากพอตัวเช่นเดียวกัน
8. ให้คำชมเชย
ไม่ว่าอย่างไร งานที่ทำอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีข้อดีอยู่บ้าง ฉะนั้นควรเลือกที่จะชมเชยในส่วนที่ดีของงานที่ทำมา ดีกว่าพูดถึงกันในแง่ลบเสียมากกว่า หรือทางที่ดีก็มิควรพูดถึงเรื่องแย่ๆ เลยน่าจะเป็นทางที่ดีกว่า
9. อย่าตัดช่องทางของตัวเอง
ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาคุณอาจจะไม่แฮปปี้กับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าจอมจับผิด จนคิดว่าต้องแตกหักกันไปข้างหนึ่ง แต่คุณต้องไม่ลืมว่า หากคุณยังทำงานที่เกี่ยวข้องกับสายงานเดิม ก็ไม่แน่ว่าในอนาคต คุณอาจจะได้โคจรมาร่วมงานกันอีก ฉะนั้นคุณควรรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไว้ เพื่อให้ในอนาคตหากมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันอีก ก็จะได้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นกว่าการที่มีความสัมพันธ์แย่ๆ นั่นเอง
10. อย่าละเลยต่องาน
เมื่อคุณตัดสินใจลาออกแล้ว บริษัทฯ อาจจ่ายงานมาให้คุณสะสางเคลียร์งานให้เสร็จก่อนที่คุณจะออก ไม่ใช่ว่าไหนๆ ก็จะออกแล้ว ก็ลั้ลลาเสียเลย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง คุณไม่ควรปล่อยปละละเลยงานของคุณ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของการทำงาน เพื่อแสดงสปิริตและความรับผิดชอบในหน้าที่ที่มีในตัวคุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเป็นมืออาชีพเขาทำกันทั้งนั้นแหละ
นี่ก็เป็น 10 เคล็ดลับในการเตรียมตัวลาออกจากงาน ให้คุณได้ลองเอาไปปรับใช้กันดู เพื่อเตรียมตัวก่อนออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ทั้งนี้ แม้ว่าการลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวนั้นจะเป็นสิ่งที่คุณตั้งใจและใฝ่ฝันก็ตาม แต่ในงานฟรีแลนซ์ก็มีเงื่อนไขของมันที่คุณควรจะพิจารณาให้ดีเช่นเดียวกัน หากคุณมั่นใจในเส้นทางที่คุณเลือกแล้ว ก็ลุยเลย วงการฟรีแลนซ์รอคุณอยู่!