ความยากของการเป็นฟรีแลนซ์นั้น นอกเหนือจากการวิ่งหาลูกค้าเพื่อรับงานมาทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว การบริหารการเงิน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากอาชีพฟรีแลนซ์นั้นมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ บางเดือนอาจได้มาก บางเดือนอาจได้น้อย หรือบางเดือนอาจไม่มีรายรับเข้ามาเลย ก็ต้องกินบุญเก่ากันไปก่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ฟรีแลนซ์ต้องหัดเรียนรู้ที่จะบริหารการเงินของตัวเอง เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ และมีเงินเก็บเหลือใช้ในยามจำเป็นด้วย
สำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่ที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นบริหารการเงินตัวเองยังไง FreelanceBay มี 6 วิธีบริหารการเงินง่ายๆ มาฝากเพื่อนๆ ให้ลองศึกษาและทำตามกันดู
1. หาเครื่องมือจดบันทึกรายรับ - รายจ่าย
ปัจจุบันมีเครื่องมือสำหรับบันทึกรายรับ - รายจ่ายมากมายที่ให้บริการทั้งแบบฟรี และเสียค่าบริการ โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น YNAB (You Need A Budget), Expense Manager, K-Expert Saving Memo เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบันทึกรายรับ - รายจ่าย เป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้น โดยเครื่องมือเหล่านี้จะทำให้คุณเห็นสถานการณ์ทางการเงินในภาพรวมได้อย่างง่ายดาย ทั้งเงินในบัญชีที่เหลืออยู่ เงินในกระเป๋าที่มี รวมถึงฟังก์ชั่นแจ้งเตือนชำระหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น อาจจะต้องเสียเวลาเรียนรู้การใช้งานสักเล็กน้อย แต่เชื่อได้เลยว่าถ้าคุณใช้มันจนคล่องแล้ว คุณจะควบคุมการใช้เงินได้อยู่หมัดเลยล่ะ
2. สร้างระบบจัดการที่ตัวเองเข้าใจง่าย
แม้เครื่องมือบันทึกรายรับ - รายจ่ายที่ได้กล่าวไปในข้อแรกจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่าย และทรงประสิทธิภาพก็ตาม แต่ถ้าคุณเป็นมือใหม่และรู้สึกว่าเครื่องมือเหล่านั้นใช้ยากเกินไปสำหรับคุณ คุณอาจเลือกใช้วิธีแบบบ้านๆ อย่างการจดบันทึกลงในสมุดโน้ต หรืออาจสร้างฟอร์มง่ายๆ ในโปรแกรม Microsoft Excel และจดบันทึกลงในนั้นแทนก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่คุณสบายใจและเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะกุญแจสำคัญสำหรับการบริหารการเงินนั้นคือคุณสามารถมองเห็นภาพรวมการเงินของตัวเองหรือไม่ และสามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า เท่านั้นเอง
3. เขียนรายรับ - รายจ่าย ออกมาให้หมด
ไม่ว่าคุณจะใช้เครื่องมืออะไรในการบันทึกรายรับรายจ่ายก็ตาม การกำหนดงบประมาณในการใช้จ่ายแต่ละเดือน เป็นบันไดขั้นแรกที่จะทำให้คุณสามารถบริหารการเงินของคุณได้ โดยสำหรับฟรีแลนซ์ ให้ประมาณรายได้ที่น่าจะได้รับในเดือนนั้นออกมาก่อน โดยเลือกเป็นรายได้ต่ำสุด (ที่คิดว่าจะได้) ในเดือนนั้น ด้วยการทำแบบนี้ จะทำให้คุณสามารถประเมินได้ว่าในเดือนนั้นคุณต้องควบคุมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ส่วนรายรับที่เกินจากนั้นก็ถือเป็นกำไรไป ให้ใส่ลงบัญชีเงินเก็บ
ในส่วนของรายจ่ายนั้น ให้เขียนรายจ่ายที่ต้องจ่ายประจำทุกเดือนออกมาก่อน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ประกันชีวิต ภาษี ฯลฯ โดยประเมินเป็นตัวเลขสูงสุด แล้วหารเฉลี่ยออกมาต่อเดือน หลังจากนั้นจึงค่อยบันทึกรายจ่ายประจำวันทั่วไป เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ากาแฟ เป็นต้น ประเมินดูคร่าวๆ ว่าเฉลี่ยต่อวันแล้วใช้ประมาณวันละเท่าไหร่ แล้วบันทึกลงไปซะ
4. หาหนทางลดรายจ่าย
หลังจากที่คุณบันทึกรายจ่ายออกมาเป็นข้อๆ แล้ว ลองดูว่ามีค่าใช้จ่ายตรงส่วนไหนที่เสียไปโดยไม่จำเป็น และคุณยังสามารถหาทางประหยัดได้อีกบ้างหรือไม่ เช่น ลดการดื่มกาแฟ หรือดื่มกาแฟสำเร็จรูปแทนกาแฟสด, ทำงานที่บ้านแทนที่จะไปนั่งทำที่ Co-working Space, ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง โดยปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศขึ้นอีกเล็กน้อย เป็นต้น ด้วยวิธีนี้จะทำให้คุณสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ และจ่ายด้วยราคาต่ำที่สุดที่ควรจะเป็น ทั้งยังทำให้คุณมีเงินเก็บเพิ่มอีกด้วย
5. ตั้งเป้าหมาย
นอกเหนือจากวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถบริหารการเงินได้สำเร็จตลอดรอดฝั่งก็คือ คุณต้องตั้งเป้าหมายออกมา โดยเป็นเป้าหมายที่สามารถเอื้อมถึงได้ และค่อยๆ ย่อยมันออกมาเพื่อให้เห็นเส้นทางไปสู่เป้าหมายได้ เช่น คุณต้องการเก็บเงิน 60,000 บาท ภายใน 1 ปี เท่ากับว่าใน 1 เดือนคุณต้องเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน โดยวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ หลังจากที่ได้เงินจากผู้ว่าจ้างมาแล้ว ให้โอนเข้าบัญชีเงินเก็บทันทีในทุกๆ เดือน โดยมีกติกาว่าเงินในบัญชีนี้ห้ามนำออกมาใช้เด็ดขาด และให้รางวัลตัวเองเมื่อเก็บเงินได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยอาจออกไปทานข้าวนอกบ้าน หรือซื้อของที่ตัวเองอยากได้ก็ได้
6. หมั่นตรวจสอบการใช้เงินอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากที่คุณทำการวางแผน และบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2 - 3 เดือน คุณจะเริ่มเห็นภาพว่าในแต่ละเดือนคุณได้ใช้เงินไปกับอะไรบ้าง และสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตามความเหมาะสม เช่น ค่าเดินทาง หากคุณต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบ่อยๆ การเลือกซื้อบัตรแบบเติมเที่ยวจะช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้บัตรแบบเติมเงิน เป็นต้น ทั้งนี้คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณตั้งงบประมาณไว้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายแล้วหรือไม่ ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปหรือเปล่า เพื่อไม่ให้คุณเครียดจนเกินไป และยังมีวินัยในการเก็บเงินได้อีกด้วย
ทั้ง 6 ขั้นตอนนี้เป็นวิธีการบริหารเงินที่ง่ายและสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งเหมาะกับฟรีแลนซ์ทุกคน เพราะยิ่งเรามีเงินเก็บมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ชีวิตเรามั่นคงมากเท่านั้น แม้รายได้จะไม่ได้เข้ามาแบบสม่ำเสมอ แต่หากมีวินัยในการออม อาชีพฟรีแลนซ์ก็เป็นอีกอาชีพที่มั่นคงได้เช่นเดียวกัน มาเริ่มต้นออมตั้งแต่วันนี้กันเลยดีกว่า
อ่านบทความอื่นๆ ของ FreelanceBay
ติดตาม FreelanceBay จากช่องทางต่างๆ : Facebook | Twitter | Google+