กว่า 6 ปีที่ใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนอย่างหนัก จนสำเร็จการศึกษาในวิชาชีพครู กอปรกับแพชชั่นในการสอนเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ Rachel Wiley ครูสาววัย 29 ปี กลับต้องตกอยู่ในสภาพถังแตก เนื่องจากหนี้กู้ยืมจากการศึกษา และแทบจะไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายรายเดือนได้เลย
เธอกล่าวว่า "ฉันรักนักเรียน รวมถึงการเป็นครู ซึ่งฉันรู้สึกว่าฝันเป็นจริงแล้ว แต่ฉันกลับถังแตกซะงั้น อันที่จริง ฉันถือว่าโชคดีกว่าใครหลายๆ คน ที่ฉันสามารถมีเงินซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ มีเงินซื้อของเข้าบ้านในแต่ละเดือน มีน้ำมีไฟใช้ มีรถขับไปทำงานทั้งตัวฉันและสามี คือเรามีครบทุกอย่าง เพียงแต่ว่ามันแทบจะไม่พอ ในแต่ละเดือนฉันต้องมานั่งคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ จนบางทีก็รู้สึกท้อ เหมือนว่าฉันทำอะไรผิดไป"
จากการสำรวจความแตกต่างทางการเงินระหว่างอาชีพครูกับอาชีพอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันในสหรัฐอเมริกา พบว่าช่องว่างของรายได้ระหว่างครูโรงเรียนรัฐบาล กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลในหน่วยงานอื่นๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในปี 2015 และเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมด พบว่าครูนั้นมีรายได้ต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันถึง 17%
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ครูในสหรัฐอเมริกานั้นได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยครูในสหรัฐฯ นั้นได้รับค่าแรงปีละประมาณ 54,000 เหรียญฯ (ประมาณ 1,887,300 บาทไทย หรือ 157,275 บาทต่อเดือน) ในขณะที่ลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นประเทศที่ครูได้รับค่าแรงสูงสุดนั้น ได้รับค่าแรงปีละประมาณ 100,000 เหรียญ โดยเฉลี่ย (ประมาณ 3,495,000 บาท หรือ 291,250 บาทต่อเดือน)
แม้จะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง อย่างปัจจัยทางการเมือง ซึ่งมักจะถูกนักการเมืองก่นด่าในบางครั้ง อย่าง John Kasich นักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน ที่ได้ตอกหน้าใส่บรรดาครูๆ ในการประชุม Republican Education Summit เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาว่า "ถ้าผมเป็นกษัตริย์ของสหรัฐอเมริกา ผมจะยกเลิก Teachers' Lounges ที่พวกเขานั่งอยู่ด้วยกัน และเล่าสู่กันฟังถึงความทุกข์ร้อนของพวกเขา"
ซึ่ง Wiley มองคำวิจารณ์ประเภทนี้ว่า "การที่ครูบอกว่า การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างหนักหน่วงถึง 6 ปีเพื่อได้รับค่าตอบแทนมากกว่านี้นั้น คือการคร่ำครวญหรือก่นด่าชีวิต ฉันว่ามันไม่ใช่นะ" เธอกล่าว
จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อาชีพครูนั้นก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่าอาชีพอื่น แทบไม่แตกต่างจากเมืองไทย แม้เมื่อเทียบกันแล้วจะได้รับเงินมากกว่าราว 10 เท่าก็ตาม แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงกว่า อัตราค่าจ้างนั้นจึงอาจไม่พอในมุมมองของเขา หากย้อนกลับมามองในบ้านเรา แม้เงินเดือนครูอาจจะต่ำ แต่ก็เพียงพอกับค่าครองชีพ
ทั้งนี้ การขึ้นเงินเดือนครูนั้นอาจจะเป็นเรื่องยากเนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา การสร้างรายได้เพิ่มด้วยวิธีอื่นอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายกว่า โดยอาจเลือกสอนพิเศษในวิชาที่ถนัด ก็ดูเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ครูหลายคนในเมืองไทยทำกัน ซึ่งน่าจะพอแก้ปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ได้ในระดับหนึ่ง