สำหรับฟรีแลนซ์แล้ว Portfolio อาจเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้ามักจะขอดู เพื่อพิจารณาว่าเรามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ตรงกับงานที่เขาต้องการให้ทำหรือเปล่า แต่ในบางครั้ง ลำพังแค่ Portfolio อาจไม่เพียงพอ หากลูกค้าต้องการอะไรที่มากกว่านั้นอย่าง Resume ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าตัวเราเคยมีประสบการณ์ทำงานอะไรมาก่อนบ้าง หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติว่าเราเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง Resume ก็เปรียบเสมือนฉลากสินค้า ที่บอกรายละเอียดและคุณสมบัติของสินค้า ในขณะที่ Portfolio ก็คือสิ่งที่ได้จากการใช้สินค้านั้นนั่นเอง
แน่นอนว่าสำหรับฟรีแลนซ์แล้วอาจเป็นเรื่องไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก แต่ถ้าลูกค้าขอดูขึ้นมาแล้วไม่มีให้เขา ก็เท่ากับเราเสียโอกาสใช่ไหมล่ะ? อย่างน้อยมีไว้ก็ดีกว่าไม่มี (หรือถ้าคิดกลับตัวกลับใจไปเป็นพนักงานกินเงินเดือน เราก็ไม่ว่ากัน) และเทคนิคในการเขียน Resume ที่เราเก็บมาฝากเพื่อนๆ นี้ ก็ได้นำตัวอย่างมาจากคุณ Katie Simon ซึ่งการเขียน Resume ของเธอนั้น ทำให้เธอได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังอย่าง Google, BuzzFeed และบริษัท Start-Up ชั้นนำกว่า 20 แห่งในสหรัฐฯ อีกด้วย ลองทำความเข้าใจ และฝึกเขียนกันดูเลย
1. เริ่มต้นจากความคิด
โดยให้คิดว่า Resume ที่คุณกำลังจะเขียนนั้น เพื่อได้สัมภาษณ์งานในฝัน ที่คุณอยากทำงานด้วย คำถามไหนที่คุณอยากให้พวกเขาถาม คุณอยากให้พวกเขาประทับใจอะไรในตัวคุณ อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจะเน้น และสิ่งที่คุณไม่ต้องการให้เขารู้ และถ้าสมมติว่าพวกเขาไม่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากใน Resume ที่พวกเขากำลังดูอยู่ มันน่าสนใจพอแล้วหรือยัง
2. มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน
การใช้คำที่มากเกินไป = ทำให้เอกสารดูรก = ทำให้สับสน = นำไปสู่การโยนทิ้งลงถังขยะในที่สุด มันไม่สำคัญว่าคุณเป็นคนที่น่าสนใจแค่ไหนหากคุณไม่สามารถเล่ามันออกมาได้ภายใน 1 หน้ากระดาษ ดังนั้น อะไรที่ไม่จำเป็น จงตัดออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะเนื้อความที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ทั้งประเภทของข้อมูล, ส่วนต่างๆ ที่คุณต้องการนำเสนอ รวมถึงสำนวน, วลีต่างๆ ที่คุณใช้ ในทุกๆ บรรทัดที่คุณเขียนลงไป ให้ถามตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่คุณเขียนลงไปนั้นจะทำให้ผู้ว่าจ้างสนใจในตัวคุณได้พอแล้วหรือยัง
3. สั้น กระชับ ได้ใจความ
พึงระลึกไว้เสมอว่า Resume ที่ดีนั้นควรสั้น กระชับ และจบได้ภายใน 1 หน้ากระดาษ โดยในแต่ละส่วน (พวกประสบการณ์, การศึกษา, ทักษะที่มี ฯลฯ) ควรประกอบด้วยหัวข้อย่อยๆ ไม่เกิน 3 - 4 หัวข้อ และในแต่ละหัวข้อย่อยควรประกอบด้วย bullet ไม่เกิน 3 อัน (จริงๆ 2 อันก็ถือว่ามากแล้ว) พยายามเขียนให้แต่ละ bullet มีความยาวไม่เกิน 1 บรรทัด ซึ่งเป็นการบังคับให้คุณเขียนในสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อจริงๆ
4. ให้ความสำคัญที่ผลงาน ส่วนทักษะเป็นเรื่องรอง
ยกตัวอย่างจากใน Resume ของคุณ Katie ที่เขียนว่า "Increased Facebook following by 40% and total Facebook reach by 60%." แทนที่จะเขียนว่า "Ran company's Facebook and Twitter accounts." ระบุตัวเลขที่ชัดเจนลงไปถ้าเป็นไปได้ หากคุณต้องการเน้นไปที่ทักษะ ก็ควรใช้คำที่โดนใจ วางไว้ด้านหน้าของประโยค เช่น "Increased site traffic and conversion KPIs with targeted SEO strategies" แทนที่จะเขียนว่า "Used SEO strategies to boost site traffic." เพราะบริษัทนั้นเลือกจ้างคนที่ทำงานให้บริษัทได้เท่านั้น
5. เพิ่มส่วนที่เป็นโปรเจคส่วนตัว
หากคุณมีประสบการณ์ทำงานที่นอกเหนือจากงานที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ได้ทำระหว่างเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย, โปรเจคที่ได้ทำในชั้นเรียน หรือบล็อกส่วนตัวที่คุณเขียน อย่าลังเลที่จะใส่มันลงไป อย่างเช่นคุณ Katie ที่เขียนประสบการณ์ตอนที่เรียนวิชา Marketing ในมหาวิทยาลัย โดยเป็นโปรเจคที่เธอได้แนะนำให้การสร้างแบรนด์เปลี่ยนเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของเธอเลยทีเดียว
6. พาพวกเขาไปถึงแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตัวคุณ
เพราะคุณไม่สามารถใส่ข้อมูลทุกอย่างลงไปบนหน้ากระดาษเพียงแผ่นเดียวได้หมด ดังนั้น หากคุณต้องการให้เขารู้จักตัวคุณเพิ่มเติมมากขึ้น ง่ายๆ เลย ก็แค่ทิ้งข้อมูลของคุณไว้ ไม่ว่าจะเป็น LinkedIn, เว็บไซต์ส่วนตัว, Online Portfolio, Twitter, Instagram, Facebook อะไรก็ว่าไป (โปรไฟล์ใน FreelanceBay ก็ได้นะ) แต่ให้แน่ใจว่าข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในสื่อที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นั้นเหมาะที่จะให้พวกเขาดูจริงๆ ด้วยนะ
7. ประสบการณ์ทำงานที่เก่ามากๆ ให้กำจัดออกไป
หากคุณเคยมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วมากกว่า 3 ที่ ให้เลือกตัดที่ทำงานที่เก่าที่สุด 1 หรือ 2 แห่ง โดยเลือกนำเสนอประสบการณ์ที่เราเชี่ยวชาญมากที่สุด ถึงแม้คุณจะมีประสบการณ์ไม่มากพอ คุณอาจเลี่ยงที่จะเขียนประสบการณ์ที่ไม่น่าสนใจก็ได้ พึงระลึกไว้เสมอว่าการเขียน Resume ของคุณนี้จะทำให้คุณได้สัมภาษณ์งานในฝัน คุณอยากจะเล่าประสบการณ์อะไรให้ผู้ว่าจ้างฟัง ระหว่างงานพาร์ทไทม์เล็กๆ ที่เคยทำ หรืองานวิจัยที่คุณทำในแล็ป ก็ลองคิดดู
8. เล่าเรื่องแปลกๆ บ้างก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น พี่ชายของ Katie นั้นจบปริญญาโททางด้าน เก้าอี้และการนั่ง ฟังดูแปลกใช่ไหมล่ะ แต่เชื่อมั้ยว่ามันเข้ากับสาขาที่เขาเรียนมาก และทำให้เขาเป็นผู้สมัครงานคนเดียวที่ผู้ว่าจ้างจำได้ สำหรับคุณแล้ว อาจเปิดแชแนลใน YouTube เกี่ยวกับการทำขนม หรือไลฟ์สไตล์อื่นๆ ก็ได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่คุณทำเลยก็ตาม แต่มันจะทำให้คุณดูพิเศษกว่าคนอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบุคลิกในหลายๆ ด้านของคุณ
9. ปรับแต่งให้เข้ากับผู้ว่าจ้างแต่ละคน
อาจจะเสียเวลาสักนิดหน่อย แต่ก็ถือว่าไม่ได้มากมายจนเกินไป อย่างเช่นถ้าคุณต้องการสมัครงานกับผู้ว่าจ้าง 5 ที่ โดยตำแหน่งที่สมัครนั้นแตกต่างกัน หรืออยู่ต่างอุตสาหกรรมกัน ให้คุณปรับแต่ง Resume ให้เข้ากับที่ๆ คุณได้สมัครงานไป ยิ่งคุณปรับแต่ง Resume ของคุณได้เข้ากับผู้ว่าจ้างมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้สัมภาษณ์งานก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นผลดีมากกว่าการเตรียมไว้เพียงรูปแบบเดียว
และนี่ก็เป็นคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ จาก Katie Simon ที่คุณสามารถลองเอาไปทำตามได้ง่ายๆ โดยสำหรับใครที่ยังหางานไม่ได้ ผู้ว่าจ้างยังไม่สนใจ อาจจะต้องดูว่า Resume ที่ตัวเองเขียนนั้นมีอะไรที่ผิดพลาดไปหรือไม่ รวมถึงผลงานใน Portfolio เองก็สำคัญไม่แพ้กัน หากทำได้ดีทั้ง 2 อย่าง ก็เชื่อเหลือเกินว่าคุณจะมีงานเข้ามาให้ทำอย่างไม่ขาดมือได้อย่างแน่นอน