การทำงานในรูปแบบที่เป็นฟรีแลนซ์ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากการทำงานประจำก็คือแหล่งที่มาของรายได้ ซึ่งรับเป็นจ๊อบๆ ไป มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ขนาดของงานที่รับทำ ซึ่งต่างจากงานประจำที่รับรายได้เท่ากันทุกเดือน และปรับฐานเงินเดือนขึ้นในแต่ละปี แม้การเป็นฟรีแลนซ์จะมีข้อดีในเรื่องของเวลาการทำงานที่อิสระ แต่ก็มีรายได้ที่ไม่มั่นคง ถึงบางเดือนจะมีเงินเข้ามามาก แต่ก็มีเหมือนกันที่บางเดือนไม่มีรายได้เข้ามาเลย
การวางแผนการเงินก่อนลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่คุณควรคิดให้รอบคอบ เพราะหลังจากที่คุณตัดสินใจลาออกมาแล้ว เท่ากับว่าคุณไม่มีคนจ่ายเงินเดือนให้อีกต่อไป ต้องหารายได้เข้ามาด้วยตัวเองล้วนๆ ซึ่งในแต่ละเดือนอาจได้ไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุด คุณก็ควรรู้ว่าในแต่ละเดือนคุณควรมีรายได้เท่าไหร่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตรอดได้ รวมถึงมีเงินเก็บในบัญชีส่วนหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ใช้ในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ โดย FreelanceBay มีทิปส์ง่ายๆ 3 ข้อ มาฝากเพื่อนๆ ให้ลองอ่านและนำไปปรับใช้กันดู
1. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
แท้จริงแล้ว การเป็นฟรีแลนซ์นั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากการทำธุรกิจส่วนตัวมากนัก โดยในขั้นต้น คุณควรกำหนดต้นทุนในการทำงานของคุณก่อน พึงระลึกไว้เสมอว่าคุณไม่ใช่พนักงานกินเงินเดือนแล้ว คุณกำลังทำธุรกิจ (ฟรีแลนซ์) อยู่ ซึ่งหมายความว่าคุณต้องตั้งเป้าหมายให้กับธุรกิจของคุณด้วย ว่าจะต้องมีผลประกอบการเท่าไหร่
หากคุณยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าในเดือนๆ หนึ่ง คุณต้องทำรายได้ให้ได้เท่าไหร่ งั้นลองมาเริ่มต้นคิดจากฝั่งค่าใช้จ่ายกันก่อนดีกว่า โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่คุณต้องจ่ายออกไปทุกเดือนก่อนก็ได้ ซึ่งค่าใช้ต่างๆ เหล่านี้ได้แก่
-
ค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน
-
ค่าไฟฟ้า
-
ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้ออุปกรณ์ในการทำงาน เช่นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการทำงาน
-
ค่าเช่าพื้นที่ Co-working space สำหรับออกไปทำงานนอกบ้านในบางครั้ง
-
ค่ากาแฟ (ไม่รู้ว่าเกี่ยวมั้ย แต่มันจำเป็นมากๆ สำหรับแอดมินเลยล่ะ)
ด้วยการที่คุณลิสต์รายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ออกมาแล้ว จะทำให้คุณพอมองเห็นภาพคร่าวๆ ว่าคุณมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยแต่ละเดือนแล้วคิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้คุณรู้ว่าในแต่ละเดือนนั้นคุณต้องทำงานกี่งาน เพื่อให้ได้รายได้มาครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และจัดการค่าใช้จ่ายประเภทนี้ไม่ให้เกิน 30% ของรายได้ในแต่ละเดือนของคุณ
การคำนวณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จะทำให้คุณทราบว่าคุณต้องทำงานจำนวนเท่าไหร่ และนำต้นทุนตรงนี้ไปคิดกำไรที่ต้องการต่อได้
2. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
นอกจากค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำงานแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องที่ละเลยไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ สารพัดต่างๆ นานา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรนเปรอตัวเองอีก พวกค่าช้อปปิ้ง ดูหนัง ท่องเที่ยว หรือสำหรับสังสรรค์แฮงก์เอาท์กับเพื่อนฝูง อย่าลืมรวมลงไปในรายการค่าใช้จ่ายด้วย โดยค่าใช้จ่ายส่วนตัวนี้ ควรจัดสรรไว้ไม่ให้เกิน 50% ของรายรับที่คุณได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นตัวกำหนดว่า คุณต้องหารายได้ให้ได้เท่าไหร่ในเดือนๆ หนึ่ง
3. เงินเก็บ (สำหรับวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ)
หลังจากที่คำนวณค่าใช้จ่ายทั้ง 2 อย่างแล้ว คุณควรตั้งเป้าหมายออมเงิน โดยตั้งไว้ที่ประมาณ 20% ของรายรับ เผื่อไว้สำหรับเวลาฉุกเฉิน เช่น ลูกค้าจ่ายเงินช้า ติดปัญหาเรื่องรอบการจ่ายเงิน (Payment Term) หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินก้อนที่อยู่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายส่วนตัว อย่างเช่นค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถดึงเงินเก็บส่วนนี้ออกมาใช้ได้ นอกจากนี้แล้ว การได้เห็นเงินเก็บในบัญชีงอกเงย ออกดอกออกผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ช่วยให้คุณมีกำลังใจในการทำงานไม่น้อยเลยล่ะ
ด้วยการเริ่มต้นจาก 3 เทคนิคนี้ จะทำให้คุณมองเห็นภาพรวมชีวิตฟรีแลนซ์ของคุณได้ค่อนข้างครบถ้วน โดยรู้ว่าต้องรับงานเท่าไหร่เพื่อให้มีรายได้เข้ามามากพอในการเลี้ยงดูชีวิต และควรจะตั้งราคาในการทำงานเท่าไหร่ เพื่อให้ได้กำไรตามที่คุณต้องการ ซึ่งดีกว่าการที่ถีบตัวเองมาเป็นฟรีแลนซ์แบบงงๆ โดยไม่ได้วางแผน สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต กลับไปทำงานประจำเหมือนเดิมอยู่ดี เพราะฉะนั้นจงวางแผนให้รอบคอบ และเมื่อมั่นใจแล้ว ก็ออกมาลุยเลย!