สัญญาฟรีแลนซ์ เรื่องที่ฟรีแลนซ์ต้องรู้เกี่ยวกับการทำสัญญาก่อนเริ่มงาน
8 มกราคม 2564

 

 

     อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ ฟรีแลนซ์ และผู้ว่าจ้างที่อยากจะลองจ้างงานฟรีแลนซ์มีคำถามมากที่สุดนั่นคือ การทำสัญญา จะรับงาน/จะจ้าง ต้องทำสัญญาไหม แล้วสัญญาที่ทำจะต้องหน้าตาเป็นอย่างไร ระบุข้อมูลอะไรบ้าง หรือหากมีปัญหาเกิดขึ้นสามารถทำอะไรได้บ้าง วันนี้ FreelanceBay จึงขอนำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับการทำ "สัญญา" ของฟรีแลนซ์ให้เพื่อนๆได้ลองอ่านและทำความเข้าใจเบื้องต้นกันค่ะ

 

 

หากเพื่อนๆคนไหนไม่ชอบอ่านบทความยาวๆ แอดมีแบบเป็นเวอร์ชั่นของ Podcast ด้วยนะคะ

สามารถกดไปฟังกันได้ที่

 

 

 

ตามปกติแล้วนั้นการที่ฟรีแลนซ์จะเลือกรับทำงานชิ้นหนึ่งจากผู้ว่าจ้าง นอกจากที่จะต้องสอบถามรายละเอียดงานให้ชัดเจนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะทำพร้อมกับการรับทำงานคือ การเซ็นสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างและฟรีแลนซ์ เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

 

 

สัญญา คืออะไร ? 

     สัญญา คือ ความตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทำการหรือละเว้นการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งชอบด้วยกฎหมายและความสมัครใจซึ่งบุคคลตามกฏหมายนั้น คือบุคคลธรรมดา และนิติบุุคคล ดังนั้น ฟรีแลนซ์ซึ่งถือเป็นบุุคคลธรรมดา ก็ย่อมสามารถทำสัญญากับบุคคลธรรมดาและบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ตราบใดที่เป็นการกระทำที่ถูกกฏหมาย อยู่ในวิสัยที่ทำได้  ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ถ้าผิดจากนี้ไม่ถือว่าเป็นสัญญา

 

 

งานฟรีแลนซ์ควรเป็นสัญญาแบบไหนระหว่าง “สัญญาจ้างแรงงาน” และ “สัญญาจ้างทำของ”?

สัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะสัญญาไว้ว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” กล่าวคือ สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “นายจ้าง” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ลูกจ้าง” ซึ่งทางฝ่ายลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อจะได้รับสินจ้างเป็นค่าตอบแทนจากการทำงานนั้น ส่วนทางฝ่ายนายจ้างนั้นประสงค์จะได้แรงงานของลูกจ้าง และนายจ้างก็มีหน้าที่จะต้องจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง 

 

สัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะสัญญาไว้ว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจ้าง” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ซึ่งทางฝ่ายผู้รับจ้างตกลงจะทำงานใดงานหนึ่งจนสำเร็จเพื่อแลกกับสินจ้าง ส่วนผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของผู้รับจ้าง

 

จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่า ลักษณะการทำงานของฟรีแลนซ์เป็นการทำงานภายใต้ "สัญญาจ้างทำของ" ซึ่งเป็น สัญญาต่างตอบแทน (สัญญาที่มีการแลกเปลี่ยนซึ่งผลประโยชน์ระหว่างคู่สัญญา) โดยลูกจ้างและผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำการงานให้ส่วนนายจ้างและผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างเป็นการตอบแทนการงานที่ได้รับ

 

 

หากรับงานฟรีแลนซ์จะต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไหม? 

“สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาไม่มีแบบ” นั่นหมายถึง สัญญาสามารถเกิดขึ้นได้โดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้จะด้วยวาจา(การพูดคุยตกลงด้วยปากเปล่า) ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ถึงจะเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ FreelancrBay ก็อยากแนะนำฟรีแลนซ์และผู้ว่าจ้างทุกๆท่านถึงสัญญาที่ควรทำนั้นควรจะเป็น "สัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร" เพราะในทางปฏิบัติแล้วการมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะทำให้หลักฐานมีน้ำหนัก ที่จะทำให้เชื่อถือได้ว่ามีการจ้างงานเกิดขึ้นจริง ซึ่งหากมีปัญหา หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดผิดสัญญาขึ้นมาจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ง่ายกว่าสัญญาที่ไม่ได้มีเป็นลายลักษณ์อักษร

 

การใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าจ้าง(สินจ้าง)ตามสัญญาจ้างทำของ มีอายุความ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้

 

 

สิ่งสำคัญที่ควรมีในสัญญา 

  ข้อมูลที่ฟรีแลนซ์จะต้องระบุไว้ในสัญญานั้นคือรายละเอียดทั้งหมดที่ได้ทำการตกลงเจรจากันเอาไว้ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆของทางลูกค้า เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้เร็วขึ้นหากมีการผิดสัญญาหรือเกิดเหตุการณ์เบี้ยวค่าจ้าง FreelanceBay ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญที่ควรใส่ไว้ในสัญญาซึ่งจะมีทั้งหมด 9 ข้อดังนี้

  • ชื่อสัญญา จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาเกี่ยวกับอะไร และควรระบุให้เฉพาะเจาะจงที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • รายละเอียดคู่สัญญา จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นสัญญาระหว่างใครกับใคร (กรณีที่เป็นของบริษัทจะต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจแทนนิติบุคคลนั้นด้วย เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัทซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (http://www.dbd.go.th) หากเป็นบุคคลธรรมดา จะต้องระบุ ชื่อ นามสกุล และเลขบัตรที่ประชาชนของบุคคลนั้นด้วย)

  • ระยะเวลาของสัญญาจ้าง ควรระบุตั้งแต่เวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดสัญญาอย่างชัดเจน รวมถึงวันที่เซ็นสัญญา

 
ถ้าให้ดีควรระบุสถานที่เซ็นสัญญา ถ้าหากเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาจะได้รู้ว่าต้องแจ้งความและขึ้นศาลที่ไหน 
 

 

  • ขอบเขตของการทำงาน ควรระบุรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวกับเนื้องาน เช่น จำนวนครั้งในการแก้ไขงานและจำนวนแบบที่จะส่งให้ลูกค้าเลือกเพื่อป้องกันการทำงานที่ไม่รู้จบ
  • จำนวนเงินค่าจ้าง เงินมัดจำหรือการระบุงวดชำระ ควรระบุให้ชัดเจนว่าค่ามัดจำที่ลูกค้าต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ รวมไปถึงค่าจ้างทั้งหมด หากมีการชำระเป็นงวดให้เขียนยอดชำระแต่ละงวดให้ชัดเจน พร้อมแบ่งช่องสำหรับการทำเครื่องหมาย ชำระแล้ว และช่องสำหรับระบุวันที่ๆชำระ และช่องสำหรับเซ็นต์เชื่อฟรีแลนซ์ผู้รับเงิน และลูกค้าผู้ชำระเงินในงวดนั้นๆ
 
สำคัญอย่าลืมทำสัญญาไว้สอง ฉบับ โดยไว้ที่ลูกค้า 1 ฉบับและที่ตัวคุณเอง 1 ฉบับ จะได้มั่นใจได้มากขึ้นว่าไม่เกิดปัญหาแน่นอน
 

 

  • ลิขสิทธ์ของผลงาน จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าลิขสิทธิ์เป็นของใคร ฟรีแลนซ์และผู้ว่าจ้างมีสิทธิในผลงานนั้นๆอย่างไรบ้าง 
 
ลิขสิทธิ์เป็นของผู้ออกแบบทันที 100 % โดยผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์ใช้ผลงานตามที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น แต่หากลูกค้าจ้างให้ทำงานเฉพาะของบริษัทลูกค้า ฟรีแลนซ์ต้องทำความเข้าใจว่า นั่นเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน
 

 

  • ข้อตกลงเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา จะต้องระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องดำเนินการอย่างไรเมื่อมีการผิดสัญญา
  • การบอกเลิกสัญญากลางคัน จะต้องกำหนดเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาของแต่ละฝ่ายเอาไว้ ว่าสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง และต้องมีการบอกล่วงหน้าเป็นระยะเวลาเท่าใด และแต่ละฝ่ายต้องรับผิดชอบอะไร อาธิเช่น หากมีการยกเลิกงานกลางคันจะต้องมีการชำระเงินที่ถือว่าเป็นค่ายกเลิกงาน เป็นต้น
  • อื่นๆ อาธิเช่น ระยะเวลาในการการันตีผลงาน บริการหลังการขาย หรือข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ เป็นต้น

 

 

ประโยชน์ของการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร และปัญหาที่อาจจะเกิดเมื่อการว่าจ้างเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญา

      ทั้งนี้ FreelanceBay อยากเน้นย้ำให้ฟรีแลนซ์ทุกคนควรตระหนักถึงเรื่องการทำสัญญาเมื่อรับงานจากผู้ว่าจ้างคือสิ่งที่ควรทำ และต้องทำทุกครั้งที่มีการรับงานไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่เนื่องจากงานทุกงานอาจจะเกิดปัญหาหรือมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นแอดจึงขอจำแนกถึงประโยชน์และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นของทาง 2 ฝั่งให้ได้ฟังกันดังนี้

 

ประโยชน์ของการทำสัญญา
  • ผู้ว่าจ้าง : การทำสัญญาว่าจ้างไว้เป็นลายลักษณ์อักษรของผู้ว่าจ้างนั้นเป็นการการันตีได้ว่าจะได้รับงานตามที่ตกลง มีขอบเขตระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน และฟรีแลนซ์จะทำงานจนสำเร็จและไม่ทิ้งงานกลางคันหรือหากถูกเทกลางคันขึ้นมา ก็จะมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้
  • ฟรีแลนซ์ : การทำสัญญาว่าจ้างไว้เป็นลายลักษณ์อักษรของฟรีแลนซ์นั่นคือการได้รับเงินค่าตอบแทนตรงตามกำหนดในสัญญา ไม่ถูกปฎิเสธงานหรือถูกเทกลางทาง หากถูกเทก็สามารถดูในรายละเอียดของตัวสัญญาที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายของงานที่เริ่มทำไปแล้วได้  และจะมีกำหนดระยะเวลาและขอบเขตของงาน รวมถึงจำนวนการแก้ไขงานที่เรากำหนดให้เป็นจำนวนครั้งที่ชัดเจน จะได้ไม่ต้องพบปัญหาการแก้งานอย่างไม่มีกำหนดไม่จบไม่สิ้น โดยรวมๆนั่นคือเราสามารถดูรายละเอียดของการทำงานต่างๆ รวมถึงค่าปรับ หรือค่าเสียหาย กรณีเกิดปัญหาขึ้นมาสามารถติดตามเรื่องได้ทันที
ปัญหาของการไม่ทำสัญญา 
  • ผู้ว่าจ้าง : การไม่ทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นอาจทำให้ผู้ว่าจ้างจะได้รับงานที่ช้าเกินกว่ากำหนดที่ได้พูดคุยตกลงกันด้วยปากเปล่าตั้งแต่แรกรวมถึงการโดนเทงานหรือการเงียบหายไปของทางฟรีแลนซ์ที่ไม่สามารถติดต่อหรือติดตามได้เนื่องจากไม่มีข้อมูล และที่สำคัญคือการไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา

  • ฟรีแลนซ์ : การทำสัญญามักเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ฟรีแลนซ์มือใหม่มักจะลืมนึกถึง และทำให้เกิดปัญหาตามมาให้ปวดหัวเป็นว่าเล่น อาธิเช่น การถูกเบี้ยวเงินหรือไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ การจ่ายค่าตอบแทนที่ล่าช้าใช้ระยะเวลานานต้องตามต้องทวงหรือถึงขั้นมีปากมีเสียงกันทำให้เสียสุขภาพจิตไปอีก ยิ่งกว่านั้นฟรีแลนซ์ก็อาจจะถูกเทงานได้เช่นกัน กรณีที่กำลังทำงานอยู่แต่ผู้ว่าจ้างมาขอยกเลิกงานดังกล่าว แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่นหนาพอที่จะใช้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ทำให้เสียทั้งงาน ทั้งเงิน เวลาและโอกาสในการไปรับงานชิ้นอื่นๆหรือมหกรรมการแก้งานไม่รู้จบรู้สิ้นเพราะไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขเอาไว้ นั่นก็ทำให้เสียสุขภาพทั้งหายและใจแก่ฟรีแลนซ์เช่นกัน

 

     ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรือผู้ว่าจ้าง การจ้างงานนั้นควรทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษร และควรที่จะระบุขอบเขตเงื่อนไขต่างๆให้ครบถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแต่การทำสัญญานั้นจะต้องมีความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายไม่ใช่สัญญาที่เอารัดเอาเปรียบ และตัวสัญญานั้นควรเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่คลุมเครือ ไม่ต้องตีความซ้ำซ้อนหรือยาวจนเกินไป จะต้องพิจารณาด้วยว่าข้อมูลที่ระบุในตัวสัญญานั้นไม่มีข้อใดผิดกฏหมาย และที่สำคัญจะต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับขึ้นไปเพื่อให้ทุกฝ่ายนั้นลงนามได้อย่างครบถ้วน และเก็บไว้คนละฉบับถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นระหว่างดำเนินงานก็จะต้องทำเป็นบันทึกข้อตกลงเพิ่มขึ้นมาด้วย 

 

     หากทำสัญญาแล้วแต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าสัญญาที่ทำถูกต้องและรัดกุมมากพอ แอดอยากจะขอแนะนำฟรีแลนซ์และผู้ว่าจ้างทุกท่านถึงอีก 1 แนวทางที่น่าสนใจ นั่นคือ การจ้างงานผ่านตัวกลางที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้จริงอย่างเว็บไซต์ FreelanceBay ที่ผู้ว่าจ้างสามารถจ้างงานฟรีแลนซ์ผ่านระบบของเว็บไซต์ โดย FreelanceBay จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บเงินค่าจ้างไว้ให้จนกว่าฟรีแลนซ์จะทำงานเสร็จและผู้ว่าจ้างตรวจจนผ่านขั้นตอนสุดท้าย เงินค่าจ้างที่อยู่ในระบบจะถูกโอนไปยังบัญชีของทางฟรีแลนซ์ไม่เกิน 2 วันทำการ ทั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถมั่นใจได้เลยว่าจะได้รับงานและได้รับเงินอย่างแท้จริง เพิ่มความอุ่นใจอีก 1 ขั้นของการจ้างงานค่ะ

 

 

ตัวอย่างของการทำสัญญาว่าจ้างงานของฟรีแลนซ์

     หากต้องการลองดูตัวอย่างของการทำสัญญาการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์สามารถคลิกชมที่ลิงก์นี้ได้เลยนะคะ 

ตัวอย่างสัญญาจ้างงาน(ฟรีแลนซ์)

 

 

กำลังเชื่อมต่อ