[EVENT] ฟรีแลนซ์ ... ยังไง ตอน : คนหลายบท (บาท)
3 สิงหาคม 2559

หายหน้าหายตากันไปนาน วันนี้กลับมาพบกันอีกครั้งกับงาน "ฟรีแลนซ์ ... ยังไง?" งาน Meet Up ดีๆ สำหรับเหล่าฟรีแลนซ์ โดยในครั้งนี้ได้จัดขึ้นในชื่อตอน "คนหลายบท(บาท)" ที่ Discovery Hubba สยามดิสคัฟเวอรี่ บ้านหลังใหม่ของ Hubba Coworking Space โดยมีคุณก่อ ชาคร ไชยปรีชา ผู้กำกับหนังสั้นมากฝีมือ รวมถึงนักเขียนบท นักตัดต่อ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และนักเขียนหนังสือ (หลายบทบาทสมชื่องานจริง ๆ) มาเป็นวิทยากรร่วมพูดคุยกับเรา สำหรับเนื้อหางานในครั้งนี้ จะสนุกสนานแค่ไหน มีเนื้อหาสาระอย่างไร ติดตามอ่านได้ด้านล่างนี้เลย

 

ปล. บทความนี้มีความยาวเล็กน้อย (ถึงมาก >_<") แอดมินพยายามตัดแล้วตัดอีก แต่สาระมันเยอะจริงๆ อยากให้ผู้อ่านทุกคนอ่านให้จบ อ่านเถอะ มันดีกับคุณ ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ ถ้าพร้อมแล้วล่ะก็ เลื่อนลงไปเลย :)

 

รู้จักกันก่อน

กับบทบาทแรกของการเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของคุณก่อ เริ่มต้นได้ยังไง

พื้นเพเราเป็นคนชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่แม่ก็พาเราไปดูหนัง ทุกๆ อาทิตย์ ซึ่งที่บ้านเราจะชอบหนังกันหมดเลย แล้วอยู่ดีๆ มันก็กลายเป็นความสนใจของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้เหมือนกัน แล้วเราก็ดูหนังมาเรื่อยๆ จนมีอยู่วันนึงเราได้ไปดูหนังของพี่มะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) ตอนนั้นเขาทำหนังนักศึกษา แล้วเราก็ได้เจอรุ่นพี่ เจออาจารย์ที่วิจารณ์หนัง แล้วเขาก็ชวนไปเรียนคอร์สภาพยนตร์วิจักษ์ ซึ่งจากตรงนั้นก็เลยได้ connection มา ทำให้เราได้มาเขียนวิจารณ์หนังในที่สุด คือจริงๆ แล้วใจเราอยากทำหนัง แต่ว่าตอนนั้นเราเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง จะเข้าทางไหน ซึ่งโอกาสในการเขียนวิจารณ์หนังมันมาก่อน สุดท้ายเราก็เลยได้มาทางสายนี้ แล้วตอนนั้นคือได้ทำอะไรเกี่ยวกับหนังก็มีความสุขแล้ว

 

หลังจากที่ไปสายวิจารณ์แล้ว ก็ได้มากำกับหนังสั้นต่อ มีที่มาที่ไปยังไง

ก็คือหลังจากช่วงที่เราไปเรียนคอร์สภาพยนตร์วิจักษ์ ก็ได้ไปรู้จักกับพี่มะเดี่ยว ซึ่งเขาจะทำหนังเรื่องแรกพอดี (คน - ผี - ปีศาจ) ก็เลยไปขอเขาฝึกงาน ตอนนั้นก็ยังทำหนังสั้นไม่เป็น แต่เราก็ไปก๊อปความรู้มาจากตอนฝึกงานนี่แหละ พี่ๆ ในกองถ่ายเขาก็มีสอนตัดต่อให้เราบ้างนิดหน่อย แล้วตอนนั้นพี่มะเดี่ยวก็ให้เราเขียนกราฟอารมณ์ของบททั้งเรื่อง คือสมมติว่าเราให้บทหนังทั้งเรื่องลงมาอยู่ในกระดาษ A4 มีซีน 1 ซีนสุดท้าย แล้วก็ให้เอาปากกาไฮไลท์ป้ายสีแต่ละซีน เช่น สีเหลืองแทนซีนตลก สีแดงแทนซีนน่ากลัว สีเขียวซีนดราม่า อะไรแบบนี้ เราก็ปาดๆ ไป แล้วพอเราเอามาดูเราจะเห็นภาพรวมกราฟทั้งเรื่องว่าช่วงไหนอารมณ์ไหนอยู่ แล้วไอ้นี่มันต่อกับไอ้นี่ได้มั้ย หลังจากนั้นก็เลยมาทำหนังสั้น

 

กับการที่เราเขียนวิจารณ์หนังคนอื่นแล้วเราต้องมากำกับเองเนี่ย มันมีผลอะไรมั้ย

ตอนแรกๆ ก็ชอบมีคนถามเรื่องนี้เยอะเหมือนกันนะ แบบ ไม่อายเหรอไง เขียนวิจารณ์คนอื่นเขาแล้วตัวเองก็ทำเอง อะไรแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้วเราเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเขียนวิจารณ์มาใช้ในงานทำหนังด้วยเหมือนกัน คืออย่างเวลาดูหนังแล้วเราก็ต้องดูแล้วก็วิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ในหนัง ซึ่งมันก็เหมือนเป็นการนั่งคุยกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราชอบหนังแบบไหน ชอบวิธีการทำแบบเรื่องนี้ แล้วพอวิเคราะห์มันออกมาก็จะได้เรื่องของเนื้อหา คอนเทนต์ที่หนังต้องการจะสื่อ กลายเป็นว่าเวลาที่เราเขียนวิจารณ์หนังเยอะๆ มันเอาเศษเสี้ยวบางอย่างติดมาด้วย สุดท้ายมันก็เอื้อประโยชน์ให้กันและกัน ส่วนเรื่องที่เขียนวิจารณ์แล้วเราทำหนังด้วย เราก็ไม่ได้แคร์นะ เรารู้สึกว่ามันคนละบทบาท คือ ตอนเราเขียนวิจารณ์เราก็ทำหน้าที่เราตรงนั้น ส่วนตอนที่เราทำหนัง เสร็จงานเราก็ วิจารณ์เราเลย ด่าเราก็ได้เราอยากรู้

 

จาก "หนังสั้น" สู่ "หนังสือ" มีที่มายังไง

ช่วงหลังจากนั้นก็คือตอนนั้นเราก็ทำหนังสั้น แล้วก็ส่งประกวดงานนู้นงานนี้บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้รางวัลหรอกนะ แต่ก็ส่งไปฉาย แล้วก็ยังเขียนวิจารณ์ไปด้วย ซึ่ง connection ที่เราเขียนวิจารณ์มันก็ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ จนได้ไปรู้จักพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ซึ่งก็ช่วยกันทำนั่นโน่นนี่กันบ้าง จนวันนึงที่ทั้งเราและพี่เต๋อเขียนวิจารณ์ลงนิตยสาร Hamburger ทั้งคู่ แล้วพี่ต๊ะที่เป็นบก.นิตยสารเขาออกมาเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง ก็เลยชวนไปเขียนด้วยกันเพราะเห็น taste งาน การมองโลกประหลาดๆ ของเรากับพี่เต๋อ หนังสือชื่อ "ไทยจัง" (ซึ่งตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว) ตอนนั้นโจทย์มันคือมันเคยมีหนังสือชื่อว่า Very Thai จะเป็นมุมมองที่ฝรั่งมองไทย เช่นพวกรถตุ๊กๆ ก็เลยคิดว่าถ้ามันจะมีหนังสือที่มองความเป็นไทยโดยคนไทย ในสายตาคนไทยจริงๆ เช่น การรำไทย ในสายตาฝรั่งอาจจะเป็นวัฒนธรรมที่ถูกยกย่อง แต่ในสายตาคนไทยบางกลุ่มก็อาจจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมากเลยนะ จนไปถึงวัฒนธรรมแยกย่อยอย่างการ adapt การกินมาม่าของคนไทยที่แบบ จากการเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แปรรูปไปเป็นอย่างอื่นเป็นมาม่าผัด วินมอเตอร์ไซค์ที่แบบ ทำไมต้องเล่นหมากรุก ถักแหเวลาว่าง อะไรประมาณนี้ คือเหมือนกับเราตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่นั่นแหละ

 

ตอนเขียนหนังสือกับตอนทำหนังมันต่างกันยังไง

ถ้าอย่างการเขียนหนังสือ มันสามารถเล่าความรู้สึกออกไปตรงๆ ได้ สมมติเราจะเขียนหนังสือเล่มนึง เป็นฉากที่ผู้หญิงคนนึงกำลังเกาะกระจกแล้วรู้สึกเสียใจ ถ้าเราเขียนนิยายหรือเขียนหนังสือมันก็สามารถบอกไปตรงๆ ได้ แต่พอเป็นบทปุ๊บ มันต้องเขียนให้เห็นเป็นภาพว่า action อะไรที่จะแสดงออกว่าผู้หญิงคนนี้เสียใจ ก็เลยมีความต่างกัน เราไม่สามารถเล่าอินเนอร์แบบตรงๆ ได้เหมือนหนังสือ 100% ซึ่งถ้าเป็นหนังสือมันก็จะใช้พรรณนาโวหาร อีกอย่างการเขียนบทหนังมันก็ต้องดูความเป็นไปได้ด้วยว่าไอ้สิ่งที่เราเขียน มันสามารถเอาไปถ่ายได้จริงรึเปล่า

 

ในวงการหนังไทยมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

ต้องยอมรับว่าระบบสตูดิโอในเมืองไทยมันยังไม่แข็งแรงพอ มันเลยมีลักษณะของการทำซ้ำหนังแบบที่มันประสบความสำเร็จ อย่างเช่นหนังผี หนังตลก หนังที่มันแมสๆ แม้แต่ค่ายหนังอย่าง GTH ที่มีศักยภาพที่สุดแล้ว ทั้งเรื่องเงินและเรื่องคน ถ้าย้อนกลับไปดูลิสต์หนัง GTH แต่ละปี มักจะพบว่ามันมีหนังที่ทดลองบางอย่างใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น เคาท์ดาวน์, กอด, มหา'ลัย เหมืองแร่ ตามสถิติส่วนใหญ่แล้วสายทดลองมักจะไม่ค่อยได้ตังค์ ซึ่งสุดท้ายพอมันต้องคิดเรื่องผลกำไรบริษัทมันก็จะทำหนังพวกนี้ยาก แล้วมันเพิ่งจะมาโอเคก็เรื่อง "ฟรีแลนซ์" นี่แหละ ซึ่งจริงๆ มันจัดอยู่ในเซ็กชั่นหนังทดลอง แต่ดันได้ตังค์

 

แล้วถ้าเป็นหนังแนวนี้ (หมายถึงหนังอินดี้) ในต่างประเทศ เค้าเป็นยังไง

ต้องบอกว่าตลาดหนังในเมืองไทยมันยังแคบอยู่ กลุ่มคนดูมันก็มีอยู่แต่เดิมๆ ประมาณหนึ่ง ในขณะที่ต่างประเทศ วงการหนังเขาเหมือนมีตลาดของแต่ละเซ็กชั่นของเขาอย่างแข็งแรงพอสมควร พวกหนังผี หนังโหดๆ ก็จะมีตลาดกลุ่มนึงไป ซึ่งเขาก็จะเจาะตลาดกลุ่มนี้ คือมันมีตลาดรองรับอยู่แล้ว แต่ในเมืองไทยจะเป็นแบบ กลุ่มคนดูส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่กับหนังแนวเดิมๆ อยู่

 

เอาวัตถุดิบอะไรมาเขียนบทหนัง แล้วเวลาที่เขียนๆ อยู่แล้วบทมันตัน มีวิธีแก้ปัญหายังไง

วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องรอบตัวทั่วๆ ไป คือส่วนตัวจะเป็นคนชอบสังเกตอะไรแปลกๆ บางทีดูคลิป สมมติคนตบกัน เด็กสก๊อยตบกันลงพงหญ้า ก็จะดูแล้วก็คิด background ว่า 2 คนนี้ชีวิตมันผ่านอะไรกันมา ทำไมมันถึงทะเลาะมาได้ถึงจุดนี้ คือชอบคิดสตอรี่ให้เขาอะไรแบบนี้

 

ส่วนเวลาที่ตัน ก็จะเดินไปเดินมา หยุดเขียน ออกไปเดินออกไปเที่ยวไปดูหนัง เคลียร์ตัวเองแล้วค่อยกลับมา คือสุดท้ายแล้วมันต้องพาตัวเองออกไปอยู่ในสถานที่ที่เราสบายใจ อย่างช่วงก่อนหน้านี้เขียนบทซีรีย์ ก็หอบทุกอย่างแล้วไปเชียงใหม่ ไปอยู่เชียงใหม่เดือนครึ่ง ก็รู้สึกว่าแบบ ดีเนอะ ไปอยู่เชียงใหม่ทีเดียวเขียนได้ตั้ง 7 EP. แน่ะ อะไรงี้

 

เข้าสู่วงจรของการเป็น "ฟรีแลนซ์"

การทำฟรีแลนซ์เป็นยังไงบ้าง ช่วงแรกที่เริ่มต้นทำ แล้วมีวิธีหางานยังไง

บอกก่อนเลยว่า คือชีวิตนี้ไม่เคยทำงานประจำ 55555 คือมันเหมือนว่าตอนที่เราเขียนวิจารณ์มาตอนมัธยม มันคล้ายๆ ว่าเราเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เลยไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำงานประจำได้ นึกภาพตัวเองนั่งทำงานประจำไม่ออก ส่วนวิธีหางาน คือยอมรับเลยว่าเราไม่ได้เก่ง แต่เราโชคดีที่เจอคนที่มองเห็นและให้โอกาสเราตั้งแต่ตอนที่เราไปเรียน ก็คือสิ่งที่เราพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาพยนตร์ การเขียนวิจารณ์ ทำหนังสั้น มันก็ give back เรากลับมา เข้ามาทางนี้ ยิ่งช่วงที่เราเขียนวิจารณ์นี่เห็นได้ชัดมาก คือมีอยู่ช่วงนึงที่เราเขียน 5 เล่มพร้อมกัน แบบได้งานให้ไปเขียนแทนคนนี้ในเล่ม A พอบก.เล่ม A เห็นแล้วก็ชอบงาน จะจ้างเราต่อ แล้วก็จะไปรู้จักคนต่อไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นร่างแห ขยาย connection ไป

 

นอกจาก Connection แล้ว ถ้าเราอยากมีงานเข้ามา เราจะเริ่มยังไง

ต้องดังก่อน แล้วก็ต้องเจ๋งระดับนึงด้วย ซึ่งอย่างเราเองก็ไม่ได้ดังจากการทำงานเพียงครั้งเดียวนะ ยังมีงานอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกหน้าด้วย เช่น มีอยู่อาชีพนึงที่หลายๆ คนไม่รู้ว่าเราทำ คืองานตัดต่อหนังตัวอย่าง คือมันต้องมีงานก่อนแหละ แล้วมันจะโอเค อย่างตอนที่เราตัดต่อ Hormones (Season 1 - 2) อะ พอมีชื่อตัวเองขึ้นใน End Credit ปุ๊บ ช่วงนั้นคือคนเข้ามาเพียบเลย คืออย่างถ้าใครอยากได้งานสไตล์วัยรุ่นก็จะมาหาเรา ซึ่งน่ากลัวมาก รับมือไม่ทัน 555 แล้วคือจากตรงนั้นมันกลายเป็นว่ามีคนยอมอัพค่าตัวให้เรา ซึ่งมันกลายเป็น rate ใหม่ไปเลย

 

อย่างที่ก่อบอกว่ามีงานเข้ามาเรื่อยๆ นี่มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกงานยังไง

มีอยู่ 3 อย่าง

  1. เพื่อความอยู่รอด

  2. ได้พอร์ต ถ้าเงินไม่ดี งานนี้ก็ต้องเป็นเคสที่ทำให้เราได้ไปต่อ

  3. เอามัน คือทำเอาสนุกแล้ว ฟรีก็เอา

ซึ่งถ้างานไหนที่มี 3 คุณสมบัตินี้อยู่ด้วยกันจะเป็นงานที่ประเสริฐมาก คือถ้าช่วงนี้อยู่ไม่ได้แล้ว ก็ทำอะไรก็ได้ที่เราได้เงิน แต่ว่าก็ไม่ฝืนตัวเองนัก ช่วงไหนที่แบบ อันนี้สนุกอยากทำ ก็ทำ

 

มีวิธีบริหารเงินยังไง ยากมั้ยกับการควบคุมตัวเอง

ตอนแรกๆ รู้สึกไร้ระบบมาก เพราะเราทำตั้งแต่มัธยมไง รู้สึกมันเลยเป็นแบบ เฮ้ยเรามีเงินว่ะ เอาไปทำอะไรดี ก็ซื้อนั่นซื้อนี่ มีหมดใช้หมด ตอนนั้นยังไม่ลำบากไงยังเรียนอยู่ จนกระทั่งวันเรียนจบปี 4 บอกแม่ว่าไม่ต้องให้ตังค์ละ จะลองทำดูเอง คือเลวยังไงก็กินข้าวบ้านอะ ก็เลยลองดูก็พบว่าเละเทะ แต่ว่าช่วงหลังๆ ก็เลยคิดวิธีบริหารเงินแบบตัวเองขึ้นมา ซึ่งยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ คือตอนนี้ผมเปิดบัญชีอยู่ 5 บัญชี ซึ่งอันนึงเป็นบัญชีใช้ทั่วไป อันนึงเอาไว้ซื้อของเลอะเทอะ (สำหรับช้อปปิ้ง เที่ยวเล่น) บัญชีนึงเอาไว้เที่ยวต่างจังหวัด อีกอันนึงเป็นเงินเก็บ แล้วก็อันสุดท้ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำ พวกค่าโทรศัพท์ fix cost ทั้งหลาย ซึ่งพอเวลาเราได้เงินมาก้อนนึงเราจะไม่โกงตัวเอง เราจะเอาก้อนนี้มาหาร ซึ่งในแต่ละบัญชีเราจะล็อคไว้ว่า บัญชีนี้ 50% 20% 10% 10% 10% ลดหลั่นกันไป แล้วเราก็จะไม่เอาเงินอีกบัญชีนึงมาใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ เช่นถ้าสมมติเราอยากไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเรารู้สึกว่าเงินในบัญชีเที่ยวมันน้อยมากเลย เราก็จะทำงานให้มากขึ้น จะไม่โกงด้วยการเอาเงินบัญชีอื่นมาใช้

 

เคยมีประสบการณ์ได้เงินช้ามั้ย เอาแบบพีคๆ

จริงๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจอคนโกงนะ เพราะค่อนข้างเจอลูกค้าที่ดี แต่จะมีอันนึงที่พีคมากคือทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ตังค์เลย ประมาณ 5 ปีละ แต่จริงๆ คือจะเรียกว่าโกงก็ไม่ได้ ความสนุกคือตอนนั้นเคยรับงานๆ นึง เป็นงานตัด VTR ซึ่ง Footage ถ่ายมาแย่มาก เราก็นั่งตัดนานมาก แล้วพอส่งงานไปดราฟต์แรก รอสักพักนึง แล้วเจอคอมเม้นท์แย่มากคือ ด้วยความที่เขาถ่ายมาเอง ด้วยกล้องส่ายๆ แล้วก็คุณภาพไม่ค่อยดี เราก็ส่งงานกลับไปด้วย quality ที่ดีที่สุดเท่าที่เขาส่งมา แล้วเขาก็ feedback กลับมาว่าอยากให้ภาพมันชัดกว่านี้ ซึ่งเราแบบ หื้มมมม ไม่ได้ถ่ายเองไง แต่ก็โอเค เอากลับมาแก้ใหม่ ใส่สี เพิ่ม Sharpen ให้มันดูคมขึ้นมานิดนึง แก้เสร็จ ส่งกลับไปดราฟต์ 2 ก็ใช้เวลานานมากกว่าจะ feedback กลับมา ประมาณ 3 อาทิตย์มั้ง แล้วก็เจอคอมเม้นพรืดๆๆ แล้วก็แก้ๆๆ แล้วก็ส่งกลับไป แล้วก็รอ ระหว่างที่รอนั้นมันเหมือนเป็นช่วงที่รัฐบาลโดนยึดอำนาจ แล้วก็เปลี่ยนถ่ายรัฐบาล หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้คอมเม้นอะไรจากงานนี้อีกเลย 555 ส่วนถ้าถามว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่ฟรีแลนซ์เจอคือได้เงินช้ามั้ย อันนี้แล้วแต่ที่ บางที่เขาก็มีระบบสำรองจ่าย ซึ่งกว่าจะมาถึงฟรีแลนซ์มันก็หลายทอด แต่ส่วนตัวไม่ค่อยเจอ

 

[ช่วง Q & A และแชร์ประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงาน]

Q : มีใครในห้องเคยมีประสบการณ์ได้เงินช้าบ้าง?

A1 : เคยทำ Ad โฆษณาตัวนึง แล้วลูกค้าทำบิลไม่ทัน แต่ให้เราออกก่อน จ่ายค่าตัวนักแสดง ให้ก่อน เป็นแสน กว่าจะได้เงินก็เดือนสองเดือน (เคยช้าสุด 3-4 เดือน)

A2 : เคยทำเว็บ ทำดีไซน์ ตัดไฮไลท์ให้เค้า รับไว้หลายโปรเจค ติดไปต่างประเทศบ้าง เลยต้องออกเงินก่อนให้กับทีมงาน ตั้งแต่ธันวาปี 58 ตอนนี้ยังไม่ได้เงินเลย

 

Q : ก่อนหน้าที่จะทำงานมีทำสัญญาไว้ด้วยมั้ย

A1 : ถ้าบริษัทกับบริษัทก็มี แต่ส่วนมากจะเคยทำงานร่วมกันมาก่อนแล้ว เป็นแบบสัญญาใจ อย่างเคสล่าสุดนี่ก็ใช่

A2 : ผมว่าผมจะทำอยู่ เพราะส่วนมากก็เป็นสัญญาใจ อย่างที่บอกก็คือด้วยความที่งานมันมาจาก connection ก็เป็นคนที่ไว้ใจ แล้วก็ร่วมงานด้วยกันมานาน ก็เลยไม่เคยทำ เคยเซ็นอยู่แค่ครั้งเดียวเองมั้ง ทางฝั่งผู้จ้างเขาทำให้

 

Q : งานเขียน งานตัดต่อทุกงานไม่เคยทำสัญญาเลยหรอ?

A : ไม่เคยเลยครับ ไม่รู้ผมอยู่รอดมาได้ยังไง 555 เราเป็นฟรีแลนซ์ เลยไม่มีฝ่าย นิติบุคคล หรือฝ่ายกฎหมายที่จะเขียนให้

 

Q: แล้วจริงๆ มันควรมีมั้ยในมุมมองของฟรีแลนซ์

A : จริงๆแล้วมันควรมี เช่น จะทำงานให้ปริมาณเท่าไหร่ จ่ายเงินวันที่เท่าไหร่ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ยังทำไม่ได้ เพราะก็ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าอยู่ดี

 

Q : ปริมาณงานกับหน้าที่ต่างๆ มันยังมีพอต่อฟรีแลนซ์ใหม่ๆ เจนใหม่ๆไหม

A : มีนะ จริงๆ งานตัดต่อเป็นงานที่ขาดบุคลากร เพราะมันเหมือนจะมีคนตัดต่อกันเยอะ แต่มันไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้ามาทำงานตัดต่อ หาคนที่จะทำเป็นอาชีพยาก เช่น เวลางานนี้คนไม่พอ ก็อยากจะได้คนที่จะทำงานให้เราจนจบได้

 

Q : ข้อดี ข้อเสีย ของการเป็นฟรีแลนซ์คืออะไร

ข้อดี

1. จะหยุดเมื่อไหร่ก้ได้ อยู่ที่การ manage เวลาของเรา โดยที่ไม่ต้องลางาน อย่างแบบ อยากจะไปเที่ยวทะเล ก็จัดการตัวเองแล้วก็ไป

2. คือ เราไม่ได้ฟิกตัวเอง สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ต้องตีกรอบตัวเอง สามารถหาประสบการณ์หลักๆจากหลากหลายงาน หลายคนที่ไปเจอมากกว่า เพราะฟรีแลนซ์มันไม่ได้จำกัดกรอบการทำงาน เพราะถ้าเราทำงานประจำ เราจะรู้ว่ามันคือกรอบที่เราต้องเดิน แต่ฟรีแลนซ์ก็เหมือนเป็นโลกที่กว้างขึ้นอีก เพราะเราได้ทดลองสิ่งที่เราอยากทำ มีโอกาสที่จะเข้าไปในโลกใบใหม่เรื่อยๆ

 

ข้อเสีย

1. ได้เงินช้า รายได้ไม่สม่ำเสมอ

2. ทำเรื่องกู้ซื้อคอนโด ทำบัตรเครดิตไม่ได้ ขนาดมีเงินเข้า-ออกเดือนละเป็นแสน แต่ไปธนาคารเขาไม่ให้เราทำ เพราะเราไม่มี Statement

3. ถึงเราจะไม่มีเวลาเที่ยวเยอะ แต่เพื่อนเราไม่ได้เป็นฟรีแลนซ์ เวลามันจะไม่ตรงกัน เช่น  เวลาเราอยากปาร์ตี้ โอเคเราว่างทุกวัน แต่เพื่อนเราว่างเฉพาะวันศุกร์ คือมันเหมือนจะมีข้อดีที่ว่าเราว่าง เราอยากไปปาร์ตี้วันที่คนไม่เยอะก็ได้ แต่เพื่อนเราดันไม่ว่าง สุดท้ายก็ต้องไปวันที่คนเยอะอยู่ดี เลยกลายเป็นคนมีความโดดเดี่ยวนิดๆ

 

Q : มีเทคนิคการทวงเงินยังไง

A : จะไม่จิกเยอะ ใช้วิธีการปลง แล้วก็คิดซะว่าช่วงนี้เราเป็นพนักงานประจำที่อยู่ช่วงปลายเดือน

 

Q : มีวิธีการเลือกลูกค้าไหม แบบมองตาก็รู้ว่าจะจ่ายช้า ไม่ช้า

A : ส่วนตัวเรามองเรื่องจ่ายช้าไม่ช้าไม่ทะลุ คือคือสุดท้ายส่วนมากงานที่จะได้รับคือ งานที่เราคุยกับเค้าแล้วเราสบายใจ อย่างล่าสุดมีลูกค้าจะให้เราเขียนบทซีรีย์ พอคุยไปคุยมาแล้วรู้สึกไม่ค่อยโอเค ก็ยอมไม่ทำ

 

ทิ้งท้าย ฝากผลงานล่าสุดของก่อที่ออกสื่อแล้ว

- เขียนบท ซีรี่ย์ Lovey Dovey (มาร์ชกับน้ำชา)  ลักษณะงานคือเขียนบทให้เสร็จ เช่น อาทิตย์นี้จะได้กี่ตอน  เขียนไปด้วย ถ่ายไปด้วย และ ปรับบทไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน

- หนังสั้น  โปรดระวังเขตอันตรายข้างหน้า เป็นโปรเจคที่โปรโมทสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

 

หนังสั้น : โปรดระวังเขตอันตรายข้างหน้า

 

และนี่ก็เป็นสรุปเนื้อหาสาระทั้งหมดของงาน "ฟรีแลนซ์ ... ยังไง ตอน คนหลายบท (บาท)" สำหรับในครั้งนี้อาจจะมีคนเข้าร่วมงานน้อยกว่าครั้งก่อนๆ เล็กน้อย แต่ก็อบอุ่นและอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ และต่อด้วย Networking Party หลังจบงาน ให้ฟรีแลนซ์ได้พบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เช่นเคย สำหรับงานในครั้งหน้าจะจัดขึ้นในหัวข้ออะไร มีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง อย่าลืมติดตามกันนะครับ


 

อ่านบทความอื่นๆ ของ FreelanceBay

สมัครสมาชิก FreelanceBay

ติดตาม FreelanceBay จากช่องทางต่างๆ : Facebook | Twitter | Google+

กำลังเชื่อมต่อ