ทำอย่างไรให้เลิกกังวลจากสายตาของคนรอบข้าง?
2 ธันวาคม 2559

 

เป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะกังวลกับสายตาของคนรอบข้างอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพราะคนเราแต่ละคนต่างก็ต้องการได้รับความรัก การยอมรับนับถือจากผู้อื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า และสามารถก้าวไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ได้ ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ที่ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น โดยที่หากความต้องการในขั้นพื้นฐานไม่ได้รับการเติมเต็ม มนุษย์ก็จะไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่ความต้องการในขั้นถัดไปได้ ซึ่งการกังวลจากสายตาของคนรอบข้าง ก็คือในเรื่องของการได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่นนั่นเอง

 

เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นอยากที่จะดูดีในสายตาคนอื่นๆ จนลืมย้อนกลับมามองตัวเองว่าแท้ที่จริงแล้วนั้นตัวเราต้องการอะไรกันแน่? และทำให้หลายๆ คนใช้ชีวิตตามความคิดเห็นของคนอื่น จนลืมเป้าหมายหรือ "ฝัน" ของตัวเองไป ซึ่งหากคุณยังเป็นเช่นนี้อยู่ รับรองได้เลยว่าชาตินี้คุณไม่มีวันได้เป็นตัวของตัวเองแน่ ฉะนั้นจงเลิกกังวลกับสายตาของคนรอบข้างเสีย และจงเป็นตัวของตัวเอง ซึ่ง FreelanceBay ได้เอาเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคุณมากขึ้น และเลิกกังวลสายตาคนอื่นที่มองมาที่คุณให้น้อยลง

 

1. พึงระลึกไว้เสมอว่าคนอื่นๆ นั้นไม่ได้สนใจในตัวคุณมากเท่าที่คุณคิด

โดยทั่วไปแล้ว คนอื่นเขาไม่ได้สนใจในตัวคุณมากเท่าที่คุณคิดหรอก ส่วนใหญ่มีแต่ตัวเองนั่นแหละที่ชอบคิดไปเองว่าคนนั้นคนนู้นคนนี้เขาจะต้องคิดว่าเรานั่น โน่น นี่ แน่ๆ เลย ซึ่งแหม ... อยากจะถามกลับจริงๆ เลยว่า "มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือมโนไปเอง?"

 

ซึ่งไอ้อาการแบบนี้ นักจิตวิทยาเขาเรียกว่า "Spotlight Effect" ซึ่งเป็นอาการทางจิตวิทยาที่มนุษย์นั้นชอบคิดอยู่เสมอว่าเรานั้นตกเป็นเป้าสายตาของคนทั้งโลก ของสังคม หรือคนอื่นๆ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ทั้งหมดนั้นเราต่างทึกทักไปเองทั้งสิ้น ฉะนั้นอย่าได้แคร์เวิร์ล อยากทำอะไรก็ทำเถอะ ไม่ได้มีใครเอาเวลามาใส่ใจตัวคุณนักหรอก เชื่อสิ

 

2. เปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับตัวเอง

ไม่มีใครสามารถสั่งให้คุณคิดหรือทำอะไรได้ นอกจากตัวคุณเองเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของการตีความในสิ่งที่คนอื่นๆ ปฏิบัติต่อคุณทั้งสิ้น จริงๆ คนเรานี่ก็แปลก แทนที่จะคิดว่าสิ่งที่คนอื่นๆ ปฏิบัติต่อคุณนั้นทำให้คุณดูโง่เง่า หรือลดคุณค่าในตัวคุณลง ทำไมไม่ลองเปลี่ยนความคิดเป็นอย่างอื่น และคิดในเรื่องดีๆ ดูบ้างล่ะ? ยกตัวอย่างเช่น วันนี้คุณอาจเผลอทำอะไรเปิ่นๆ ต่อหน้าสาธารณชน แล้วพวกเขาเหล่านั้นต่างก็หัวเราะเยาะใส่คุณ คุณเลยรู้สึกว่าพวกเขาต้องมองว่าฉันโง่แน่ๆ เลย หรือพวกเขาต้องรู้ว่าฉันโง่ โอ้ไม่นะ ฉันไม่กล้าเผชิญหน้าเขาอีกต่อไปแล้ว หรือในสถานการณ์เดียวกันนี้ คุณอาจคิดเป็นว่า อืม ก็ดีแล้วนี่ ทุกคนก็ดูเฮฮาสนุกสนานกันดี นี่ฉันเป็นคนสร้างสีสันให้กับวงสนทนานี้เชียวนะ แถมยังมีคนบางคนในนี้ได้มีเรื่องหัวเราะในวันแย่ๆ ของเขาอีก ... คุณว่าแบบไหนดีกว่ากัน?

 

โดยพื้นฐานแล้ว คุณไม่มีทางเดาใจใครได้ตรง 100% หรอกว่าเขาคิดยังไงกับคุณ มีแต่คุณเท่านั้นแหละที่คิดและสร้างเรื่องราวขึ้นมาเอง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาอาจไม่ได้คิดแบบนั้นก็ได้ คุณว่าจริงไหม

 

3. ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ

การได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ คนใหม่ๆ หรือได้คุยกับคนอื่นๆ มากขึ้น คือการทำให้ความคิดเห็นลบๆ ที่คุณรับมาจากคนอื่นค่อยๆ เจือจางไป เพราะยิ่งคุณได้คุยกับคนมากเท่าไหร่ คุณจะตระหนักได้ว่าทุกๆ คนนั้นล้วนแล้วแต่มีความคิดเห็นต่างกันออกไป บางคนอาจจะดี หรือบางคนอาจจะแย่ ซึ่งคุณไม่สามารถควบคุมความคิดของคนเหล่านั้นได้หมดหรอก มีแค่ความคิดเดียวเท่านั้นที่สำคัญที่สุด และคุณสามารถควบคุมได้ไปทั้งชีวิต ก็คือความคิดของคุณนั่นเอง
 

4. พยายามทำให้คนอื่นสบายใจ

คุณจะรู้ได้ยังไงว่าคนอื่นที่คุณคุยอยู่ด้วยนั้นรู้สึกปลอดภัยเวลาที่กำลังคุยกับคุณ เพราะสำหรับบางคนแล้วอาจจะแสดงให้คุณเห็นว่าเขารู้สึกแบบนั้น แต่ส่วนใหญ่มันก็คือการแสดงเท่านั้นแหละ ลองเปลี่ยนมุมในการพูดคุยกับเขาดู โดยการทำตัวสบายๆ อย่างเป็นมิตร และพยายามช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องที่คุณสามารถช่วยได้ จะทำให้ความกังวลของคุณลดลงไปเองโดยธรรมชาติ

 

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่แนะนำให้เราคิดว่า ตัวเรานั้นจะสามารถทำอะไรให้กับเขาได้บ้าง เช่นในเรื่องของการใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น เป็นต้น เพราะการที่เราแสดงออกถึงความสงสัยว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรานั้นทำให้เราดูแย่เล็กน้อย และยังทำให้คนอื่นรู้สึกเกร็งๆ รวมถึงไม่ไว้วางใจด้วย ซึ่งถ้าคุณทำในข้อนี้ได้ คุณจะพบว่าความกังวลของคุณนั้นแทบเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเลย

 

5. โฟกัสที่การควบคุมความคิดตัวเอง ไม่ใช่คนอื่น

เป็นไปได้ไหมที่เราจะไปควบคุมความคิดคนอื่น? ลองคิดดูง่ายๆ จากตัวเอง ถ้าใครสักคนที่คุณไม่ชอบมาบอกหรือสั่งให้คุณต้องคิดกับเขาในทางที่ดีเท่านั้นนะ ห้ามนินทา ห้ามต่อว่าลับหลัง คุณว่ามันประหลาดไหม? เช่นเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะสามารถไปควบคุมความคิดของคนอื่นได้ นอกจากความคิดของตัวคุณเอง และการที่คุณเอาความคิดของคุณไปใส่ใจความคิดของคนอื่น มันเป็นอะไรที่สิ้นเปลืองพลังงานและเสียเวลามากเลยนะ เอาเวลาที่เสียไปมาใส่ใจกับความคิดของตัวเองดีกว่า เชื่อสิว่าคุณจะเครียดน้อยลง แถมยังแฮ้ปปี้มากขึ้นกว่าเดิมอีก

 

6. อย่าพยายามที่จะทำให้ทุกคนพอใจ

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะเชื่อในสิ่งที่ตนเองอยากจะเชื่ออยู่แล้ว และมักจะตัดสินคนอื่นในสิ่งที่ตัวเองเห็น (คุณก็เหมือนกันน่ะแหละ) ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่จะมีบางคนที่ชอบคุณ ในขณะที่บางคนอาจไม่ชอบคุณเลย ในเมื่อคุณรู้ว่ามีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบในตัวของคุณ คุณควรจะเลือกหน่อยไหมว่าควรจะให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหน? นอกจากนี้ถ้าคุณมั่นใจในสิ่งที่คุณทำ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนแล้วนั้น ก็ทำไปเถอะ

 

7. พึงรู้ไว้ว่า จริงๆ แล้ว การที่คุณกังวลกับสายตาคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องแย่

เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคมและต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น แน่นอนว่าไม่มีมนุษย์คนไหนอยากให้คนอื่นนินทาว่าร้ายเราหรอก เพราะมันก็เกี่ยวเนื่องกับชื่อเสียงของเราน่ะแหละ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจ้างงาน การได้เลื่อนตำแหน่ง การเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล การหาลูกค้า จนไปถึงเรื่องชีวิตคู่ แต่กุญแจสำคัญก็คืออย่าให้ความกังวลนั้นครอบงำคุณจนขาดสติ จนไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไร จงรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง และควบคุมมันไว้ อย่าให้ความกังวลนั้นใหญ่กว่าความฝันหรือความต้องการของคุณ จงมั่นใจ แล้วใส่ให้สุดไปเลย

 

 

นี่ก็เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้ลองทำตามกัน โดยเฉพาะสำหรับใครที่ยังกังวลกับสายตาของคนอื่นอยู่ ขอให้เลิกกังวลได้แล้ว แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เราก็อยากให้คุณตรวจสอบตัวเองให้ดีเหมือนกันว่า สิ่งที่คุณทำหรือแสดงออกมานั้น ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่พอใจหรือเปล่า แล้วถ้ามันผิดจริง เราสามารถที่จะแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาตัวเองได้ไหม ไม่ใช่ว่าใส่ความมั่นใจเข้าว่า แล้วเดินหน้าต่อไปโนสนโนแคร์โนแยแสคนอื่น แบบนั้นก็เกินไป เอาที่พอดีๆ เนอะ

กำลังเชื่อมต่อ