เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจสำหรับพนักงานออฟฟิศที่มักจะถูกเจ้านายโทรตาม - แชทหา - หรือส่ง Message ตามหลังเวลาเลิกงาน ล่าสุดทางการเกาหลีใต้ได้พิจารณาถึงกรณีดังกล่าว ว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิ์ของลูกจ้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดในการทำงานมากเกินไป
สมาชิกสภากรุงโซลได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ โดยห้ามไม่ให้นายจ้างติดต่อสื่อสารกับลูกจ้างหลังเวลาเลิกงาน เริ่มต้นจากหน่วยงานรัฐบาลก่อน ซึ่งการแก้ไขพรบ.นี้เป็นความพยายามที่จะรับรองสิทธิ์ของลูกจ้างหลังเวลาเลิกงาน ให้ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งหากร่างพรบ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภา การถูกโทรตาม, ส่งข้อความ หรือ Social Network จากนายจ้าง (ในสังกัดของรัฐบาล) หลังเวลาเลิกงาน จะถูกระงับโดยทันที
นาย Kim Kwang-soo หนึ่งในสมาชิกสภาระบุว่า ศูนย์ว่าราชการกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government - SGM) ต้องป้องกันไม่ให้ลูกจ้างได้รับความเครียดจากการทำงานมากจนเกินไป ซึ่งมีลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ์ในการพักผ่อนหลังเวลาเลิกงาน
การเสนอแก้ไขพรบ.นี้ได้เริ่มต้นเสนอไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลต่อลูกจ้างในภาคเอกชนด้วย นาย Shin Kyung-min ตัวแทนพรรค Democrat ของเกาหลีใต้ ได้ให้เหตุผลของการเสนอแก้ไขพรบ.ดังกล่าวว่า การแก้ไขพรบ.ฉบับนี้ไม่เพียงแต่เป็นการพิทักษ์สิทธิ์ของลูกจ้าง แต่นายจ้างก็ยังได้ประโยชน์ ในการเพิ่มประสิทธิผลการทำงานของลูกจ้างภายในเวลางานอีกด้วย
จากกรณีนี้ สอดคล้องกับผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Colorado State ซึ่งพบว่าความเครียดที่เกิดจากคาดหวังของนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างสามารถติดต่อได้หลังเวลาเลิกงานนั้น ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพจิต ก่อให้เกิดอาการ "หมดไฟ" (burnout) รวมถึงทำให้สมดุล Work - Family Life เสียอีกด้วย
สำหรับนายจ้างบางรายอาจไม่ทราบว่าในบางกรณี พนักงานอาจมีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นสำหรับการติดต่อนอกเวลาทำการ ซึ่งในสหรัฐอเมริกานั้น พนักงานสามารถคิดเงิน O.T. จากนายจ้างเพิ่มได้กรณีที่ต้องตอบอีเมลหรือรับโทรศัพท์หลังเวลางานได้ด้วย
ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับแรงงานในเกาหลีใต้ที่ภาครัฐได้ตระหนักถึงปัญหา และเห็นความสำคัญของแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ ซึ่งในประเทศที่ผู้คนมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง และทำงานเต็มที่ในเวลางาน กฏหมายดังกล่าวนั่นดูจะเหมาะสม แต่สำหรับประเทศที่พนักงานบางคนแม้แต่เวลางานยังไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ตัวเองได้ดีแล้วอาจจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ว่าจ้างเท่าใดนัก